เครื่องมือประมงในท้องทุ่งภาคกลาง
ข้างหลังภาพ

เครื่องมือประมงในท้องทุ่งภาคกลาง

 

จังหวัดลพบุรีมีแม่น้ำใหญ่ 2 สายคือ แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสัก ซึ่งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทั้ง 2 สายนั้น เป็นแหล่งธัญญาหารของคนลพบุรีมาแต่อดีต ด้วยเป็นแหล่งทำนาข้าวที่สำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดที่มาพร้อมกับน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมทุ่งยามฤดูน้ำหลากอีกด้วย

 

ในอดีตการหาปลาในบริเวณท้องทุ่งภาคกลาง แถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและลพบุรี จะใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านหลากหลายชนิด ที่เป็นกิจการขนาดใหญ่โตที่สุดคือ การทำ “ลี่” และ “สุก” ใน สมุดคู่มือเครื่องมือจับสัตว์น้ำในประเทศสยาม ของกรมประมง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2478 ได้อธิบายไว้ว่า

 

“ลี่” เป็นเครื่องมือประจำที่ชนิดหนึ่ง การใช้ลี่จับสัตว์น้ำต้องอาศัยกระแสน้ำไหลแรงและเสมอ เพื่อให้ปลาที่ทานกำลังน้ำไม่ได้นั้นไหลตามน้ำไปปะทะกับไม้ขัดแตะปลายแนวเสา แล้วปลาจะกระโดดขึ้นไปบนร้าน จับปลาได้ทุกชนิด

 

“สุก” เป็นเครื่องมือจับปลาที่ใช้เมื่อน้ำลดระดับต่ำลงกว่าตอนใช้ลี่ มีขนาดใกล้เคียงกับลี่ ลักษณะเหมือนเฝือกรัง ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งทำเป็นวงกลมซ้อนกัน เรียกว่า “สุก” หรือ “ก้นขัง” สำหรับปีกนั้นใช้เฝือกตั้งกางออกไปจากปากสุกหรือก้นขัง เป็นมุมประมาณ 60-90 องศาไปจรดตลิ่ง ใช้จับปลาเมื่อน้ำลด เมื่อปลาเข้าไปอยู่ในก้น ชาวประมงจะเอาเครื่องมือมาช้อนอีกทีหนึ่ง พบว่ามีการใช้อยู่ตามปากแม่น้ำลำคลอง

 

ผู้ที่จะทำลี่ได้ ต้องทำการประมูลหนองและจ่ายค่าภาษีอากรเสียก่อน เพราะถือเป็นกิจการประมงที่ได้กำไรมาก ซึ่งผู้ที่ประมูลหนองได้ เรียกว่า “นายอากรหนอง” ถือเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ขาดในการจับปลาและห้ามมิให้ผู้อื่นเข้ามาหาสัตว์น้ำในพื้นที่ประมูลหนอง ต่อมาได้มีการยกเลิกไม่ให้มีการประมูลหนองและใช้ลี่จับปลา ซึ่งช่วงเวลาที่การทำลี่หมดไปนั้น น่าจะหลัง พ.ศ. 2500 ลงมาแล้ว 

 

ส่วนเครื่องมือประมงพื้นบ้านขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ยังพอมีให้เห็นหลังจากที่เลิกทำลี่กันแล้ว เช่น การวาง “อวนซอง”ขนาดใหญ่ที่กลางทุ่งนาเพื่อดักปลาภายหลังฤดูน้ำหลาก หรือการวาง “เฝือก” ขวางกั้นทางน้ำ เพื่อต้อนให้ปลาเข้าไปติดในลอบ ดังเช่นชุดภาพถ่ายที่นำเสนอในคอลัมน์ “ข้างหลังภาพ” ครั้งนี้ เป็นภาพการวางเฝือกดักปลาที่จังหวัดลพบุรี ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518

 

เฝือกทำจากไม้ไผ่ที่เหลาเป็นซี่ แล้วนำมาต่อกันเป็นผืนโดยยึดด้วยหวายหรือเชือก ซึ่งความถี่ห่างจะขึ้นกับขนาดปลาที่ต้องการจะจับ เช่นเดียวกับความสูงที่ขึ้นกับระดับน้ำที่จะนำไปใช้ เฝือกจะใช้ร่วมกับอุปกรณ์ดักปลาชนิดอื่น ได้แก่ ลอบและไซ

 

 

 

 

 

 

ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

 

แหล่งอ้างอิง

สุดารา สุจฉายา, บรรณาธิการ. ลพบุรี. (กรุงเทพฯ : สารคดี), 2542

สุดารา สุจฉายา. “พรานปลาแห่งทุ่งมหาราช” ใน เมืองโบราณ ปีที่ 38 เล่มที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2555)

“เครื่องมือประมง : เฝือก” ข้อมูลจาก http://www.fisheries.go.th/

 

            


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ