ลำปลายมาศ ลำน้ำสำคัญแห่งอีสานใต้

ลำปลายมาศ ลำน้ำสำคัญแห่งอีสานใต้

 

อีสานใต้ถือเป็นแอ่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเนื่องมาจากการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการใช้พื้นที่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัตศาสตร์ เมื่อราว 3,500 ปีมาแล้ว ลำน้ำที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและเป็นเส้นทางสัญจรในการเข้าถึงพื้นที่อีสานใต้มีอยู่ 4 สายที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ได้แก่ ลำน้ำลำพระเพลิง ลำแซะ ลำมูลบน  และลำปลายมาศ

 

แผนที่ลุ่มน้ำลำปลายมาศ (ที่มา : เว็บไซต์โครงการชลประทานบุรีรัมย์)

 

ลำปลายมาศ หรือลำมาศ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าเทือกเขาสันกำแพง ในเขตอำเภอเสิงสาง ของจังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านเข้ามาในเขตพื้นที่อำเภอปะคำ นางรอง หนองกี่ หนองหงส์ ละหานทราย ชำนิ โนนดินแดง โนนสุวรรณ ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอครบุรี จักราช ชุมพวง พิมาย ห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา การที่ลำน้ำลำปลายมาศไหลผ่านหลายพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ จึงเป็นเส้นทางส่งผ่านอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรม และแหล่งน้ำสำคัญในการทำมาหากินของชาวอีสานใต้มาตั้งแต่อดีตกาล

 

พื้นที่บางส่วนของลำน้ำลำปลายมาศที่อยู่ติดกับโบราณสถานถ้ำเป็ดทอง ปัจจุบันถูกน้ำท่วมเกือบตลอดทั้งปี

ภายหลังการจัดสร้างฝายปะคำ โครงการชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำยามแล้งของอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์

 

แหล่งโบราณสถานสำคัญที่ลำน้ำลำปลายมาศไหลผ่านมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ ถ้ำเป็ดทอง ตั้งอยู่ที่อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแหล่งที่พบจารึกระบุว่าเป็นจารึกของพระเจ้าจิตรเสน หรือพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน ในสมัยเจนละ

 

บริเวณปากถ้ำเป็ดทอง จุดที่พบจารึกสมัยเจนละของพระเจ้าจิตรเสน ปัจจุบันน้ำจากลำปลายมาศเข้าท่วมเกือบตลอดทั้งปี

 

ไม่ไกลจากถ้ำเป็ดทองในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา พบโบราณสถานถ้ำวัวแดง ซึ่งอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่าน่าจะเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชในสมัยก่อน เพราะมีทั้งลานกิจกรรม เพิงผา และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งแสดงถึงความสำคัญของลำแซะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากลำปลายมาศนัก ถือว่าเป็นเส้นทางการเดินทางที่สำคัญในสมัยพระเจ้าจิตรเสนและพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องปาจิต-อรพิม ซึ่งเป็นตำนานสำคัญของพื้นที่อีสานใต้ด้วย

 

โบราณสถานถ้ำวัวแดง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ประกอบพิธีกรรมของนักบวชในสมัยก่อน ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ