พระราชพิธี 12 เดือน ปฎิทินชีวิตของชาวสยามประเทศ
หนังสือหนังหา

พระราชพิธี 12 เดือน ปฎิทินชีวิตของชาวสยามประเทศ

 

การก่อสร้างสถานที่สำคัญต่างๆ ในเมืองโบราณ บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ล้วนมีความหมายที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม และศิลปกรรมที่รุ่งเรืองในยุคสมัยต่างๆ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่สร้างจำลองขึ้นภายในเมืองโบราณ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในจึงตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญและประเพณีวัฒนธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ รังสรรค์ขึ้นโดยช่างวาดของเมืองโบราณ อาทิ คุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย

 

บริเวณฝาผนังเหนือช่องหน้าต่างวาดเป็นภาพเหตุการณ์สำคัญ เช่น เหตุการณ์ปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี การสร้างกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 สงครามเก้าทัพ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ว่างระหว่างช่องหน้าต่างทั้งหมด 32 ช่อง เขียนภาพลายรดน้ำและภาพลายกำมะลอเป็นเรื่องราว “พระราชพิธี 12 เดือน” อันเป็นพิธีกรรมที่ชาวสยามยึดถือปฏิบัติกันในรอบปี เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมืองและความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร สะท้อนถึงสภาพสังคมแบบดั้งเดิมที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของสังคมเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ผสานเข้ากับคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ

 

“พิธีต่างๆ ที่ปฏิบัติกันมาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มีหลักการหรือจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ เพื่อก่อให้เกิดความสวัสดิมงคลต่อชาติบ้านเมือง เพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร ทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่สมัยก่อนเรียกว่า “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองสงบร่มเย็น”

 

พระราชพิธี 12 เดือนมีอยู่เป็นจำนวนมาก บางเดือนอาจจะมีถึง 2-3 พิธี โดยจะมีทั้ง พิธีหลวง ที่จัดขึ้นโดยราชสำนัก และ พิธีราษฎร์ ที่จัดขึ้นโดยชาวบ้าน ภาพเขียนเรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่เมืองโบราณ ประกอบด้วยพิธีต่างๆ ทั้งหมด 32 พิธี เริ่มตั้งแต่เดือนอ้าย หรือเดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติซึ่งก็คือเดือนธันวาคม ดังนี้

 

พระราชกุศลเทศนามหาชาติ พระราชพิธีไล่เรือ (ไล่น้ำ) พระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย พระราชพิธีลงสรง พิธีธานยเฑาะห์ (เผาข้าว) พระราชกุศลมาฆบูชา พระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน พิธีศิวาราตรี พิธีทอดเชือก ดามเชือก พิธีแห่สระสนาน พระราชกุศลก่อพระทราย พิธีรดเจตร พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล พระราชกุศลสังเวยเทวดา สรงน้ำพระศรีมหาโพธิ์ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล พระราชพิธีวิสาขบูชา พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท พระราชกุศลสลากภัต พระราชพิธีเคณฑะ (ทิ้งข่าง) พระราชพิธีพรุณศาสตร์ พิธีตุลาภาร พิธีกวนข้าวทิพย์ พิธีอาศยุชย (แข่งเรือ) พระราชพิธีสมโภชช้างต้น พระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีลอยพระประทีป พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชกุศลฉลองไตรปี พระราชพิธีกะติเกยา พระราชพิธีจองเปรียง พิธีอาพาธพินาศ

 

ในจำนวนทั้ง 32 พิธีที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าบางพิธียังคงเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน เนื่องจากมีการปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมา แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เลือนหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ เพราะเลิกปฏิบัติกันไปนานแล้ว อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำนักพิมพ์เมืองโบราณได้รวบรวมภาพพระราชพิธี 12 เดือนที่ประดับอยู่ภายในพระนั่งที่ดุสิตมหาปราสาท ณ เมืองโบราณ มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “พระราชพิธี 12 เดือน ปฏิทินชีวิตของชาวสยามประเทศ” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ในจำนวนจำกัดเพียง 500 เล่มเท่านั้น

 

พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล เป็นหนึ่งในพระราชพิธีที่กระทำสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

ในภาพคือ พระยาแรกนา  พร้อมทั้ง เทพีหาบเงินหาบทอง เดินหาบกระบุงบรรจุพันธุ์ข้าวเปลือก

 

นอกจากภาพจิตรกรรมงามวิจิตรที่ยกมาครบถ้วนทั้ง 32 ภาพ พิมพ์ในรูปสีขาว-ดำ ภายในเล่มยังประกอบด้วยคำอธิบายพระราชพิธีต่างๆ โดย คุณวิยะดา ทองมิตร  นักวิชาการประจำมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และนักเขียนประจำวารสารเมืองโบราณ ทั้งในแง่มุมคติความหมายที่สอดแทรกอยู่ในพิธีกรรมและธรรมเนียมปฏิบัติของพิธีหลวงกับพิธีราษฎร์ ตัวอย่างเช่น พระราชกุศลเทศนามหาชาติ  ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเดือนอ้าย (เดือน 1) เป็นการเทศนาถึงเรื่อง มหาชาติ  เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แฝงคติธรรมเรื่องทานบารมี ภายในเล่มได้นำเสนอเกร็ดความรู้ทั้งแง่มุมในพิธีหลวงและพิธีราษฎร์

 

“สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 5) ทรงผนวชเป็นสามเณร โปรดเกล้าฯ ให้แต่งกระจาดบูชากัณฑ์เทศน์เป็นรูปเรือสำเภาขนาดใหญ่ใส่เครื่องไทยธรรม (เรียกกันว่า สำเภากลางเมือง) ตั้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท”  

 

พระภิกษุขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ แสดงพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ส่วนหนึ่งในภาพพระราชกุศลเทศนามหาชาติของเมืองโบราณ 


“พิธีเทศน์มหาชาติของราษฎรกระทำเมื่อออกพรรษาพ้นเขตกฐินแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะปักดำนาเสร็จแล้ว รอคอยข้าวสุกในฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจึงมีเวลาที่จะสนุกสนาน ทำบุญสุนทาน และเป็นการสังสรรค์ญาติพี่น้องด้วย ทางภาคอีสานจะเรียกงานบุญเทศน์มหาชาติว่า บุญผะเหวด (พระเวส)”

 

พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ฟังเทศน์มหาชาติ ส่วนหนึ่งในภาพพระราชกุศลเทศนามหาชาติของเมืองโบราณ

 

ภาพจิตรกรรมทั้งหมดเขียนด้วยเทคนิคภาพลายรดน้ำและภาพลายกำมะลอ ภาพลายรดน้ำเป็นการเขียนภาพโดยใช้ น้ำยาหรดาล ซึ่งเป็นสารสีแดงอมเหลืองที่ประกอบด้วยสารหนูและกำมะถัน จากนั้นนำยางรักทาให้ทั่ว แล้วนำแผ่นทองคำเปลวปิดให้ทั่วทั้งชิ้นงาน จากนั้นราดน้ำรดลงบนชิ้นงานให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วใช้ก้อนสำลีค่อยๆ ลูบ ทองคำเปลวบริเวณที่เขียนด้วยน้ำยาหรดาลจะหลุดลอกออกมา เว้นว่างเป็นพื้นหลังและลายเส้นตามที่ร่างแบบไว้ นิยมใช้พื้นหลังสีดำเพื่อขับเน้นสีทองให้เด่นชัด ส่วนลายกำมะลอมีขั้นตอนเหมือนอย่างการเขียนภาพลายรดน้ำ เพียงแต่มีการแต่งแต้มสีสันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเขียว ลงไปในภาพด้วย

 

ภาพปกหนังสือเป็นรูปพิธีโล้ชิงช้าหรือพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย เขียนด้วยเทคนิคลายกำมะลอ  

 

ถึงแม้ว่าภายในเล่มจะพิมพ์เป็นภาพสีขาว-ดำตลอดทั้งเล่ม แต่อย่างไรก็ดี ถือว่าเป็นภาพประกอบที่มีความสวยงามวิจิตรบรรจง นอกจากการออกแบบองค์ประกอบภาพเพื่อบอกเล่าเรื่องราวพระราชพิธีต่างๆ ไว้ในภาพเดียวแล้ว ช่างวาดของเมืองโบราณยังได้นำลวดลายไทยโบราณที่เขียนประดับบนตู้พระไตรปิฎกเก่าแก่ของวัดต่างๆ เช่น วัดศาลาปูน วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาใช้เป็นลวดลายพื้นหลังอีกด้วย ถือเป็นการสืบสานงานช่างชั้นครูให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้


 

ข้อมูลบรรณานุกรม

หนังสือ :  พระราชพิธี 12 เดือน ปฏิทินชีวิตของชาวสยามประเทศ  

ผู้เขียน : วิยะดา ทองมิตร

ผู้วาดภาพ : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย

พิมพ์ครั้งแรก : พฤศจิกายน 2561

สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

จำนวน 92 หน้า

ราคา 400 บาท

 

ท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook สำนักพิมพ์เมืองโบราณ และ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ