“อาคารแห่งหนึ่งที่ถนนสายในของลำปาง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ประดับด้วยครีบลวดลาย
ห้องชั้นบนสุดประดับกระจกสีด้วย เป็นอาคารขนมปังขิงริมถนน ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย”
คำบรรยายของ น. ณ ปากน้ำ ในหนังสือ “แบบแผนบ้านเรือนในสยาม” กล่าวถึงอาคารหม่องโง่ยซิ่น เรือนขนมปังขิงหลังงามที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนสายในหรือถนนตลาดเก่า ในย่านตลาดจีนหรือกาดกองต้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยเรียกชื่อตามผู้เป็นเจ้าของคือหม่องโง่ยซิ่น คหบดีตระกูลสุวรรณอัตถ์ ปัจจุบันอาคารหลังนี้มีอายุ 100 กว่าปีแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทว่ายังคงเห็นเค้าความงดงามโอ่อ่าที่ชวนให้นึกถึงความรุ่งเรืองในอดีต
อาคารหม่องโง่ยซิ่นบนถนนสายใน ย่านกาดกองต้า อำเภอเมืองลำปาง บันทึกภาพเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ในลำปางมีบริษัทของอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ 4 บริษัทด้วยกัน ได้แก่ บริษัท บริติชบอร์เนียว จำกัด บริษัท บอมเบย์เบอร์มา จำกัด บริษัท สยามฟอเรสต์ จำกัด และบริษัท แอล. ที. เลียวโนเวนส์ จำกัด บริษัทเหล่านี้ได้นำคนในบังคับอังกฤษ ได้แก่ พม่า มอญ ไทใหญ่ ตองสู เข้ามาเป็นลูกจ้างทำงานในกระบวนการทำไม้ กลุ่มคนเหล่านี้ได้ตั้งชุมชนอยู่ในย่านท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ ส่วนหนึ่งได้ขยับขยายหาลู่ทางเติบโตในธุรกิจป่าไม้ สะสมทุนสร้างฐานะเป็นพ่อเลี้ยงหรือคหบดี เช่น หม่องจันโอง ต้นตระกูลจันทรวิโรจน์ ผู้สร้างบ้านเสานัก เรือนไม้สักหลังใหญ่โตในย่านท่ามะโอที่สร้างขึ้นในรูปแบบพม่าผสมล้านนา หม่องส่วยอัตถ์ ต้นตระกูลสุวรรณอัตถ์ ผู้มีประวัติว่าเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงที่เมืองมะละแหม่ง และมีบทบาทสำคัญคือเป็นหัวหน้าคนในบังคับอังกฤษ (British Headman Subjests) คนแรกของลำปาง
มรดกวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำไม้ในลำปางคือการสร้างอาคารแบบเรือนขนมปังขิงซึ่งพบอยู่โดยทั่วไปทั้งในย่านตลาดและชุมชนเก่า เรือนขนมปังขิงเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เริ่มสร้างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 ในหมู่เจ้านาย ขุนนาง และคหบดี มีความโดดเด่นที่การประดับประดาด้วยลวดลายฉลุไม้อย่างวิจิตร นิยมลายพรรณพฤกษา ลายก้านขด ลายสัตว์ และลายประดิษฐ์ ซึ่งรวมถึงตราสัญลักษณ์และตัวอักษรที่ออกแบบเป็นลวดลายสลับซับซ้อน ในลำปางพบว่ามีการสร้างเรือนขนมปังขิงอย่างแพร่หลาย ด้วยเป็นแหล่งที่มีคหบดีผู้มั่งคั่งจากการทำไม้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีช่างชาวพม่าผู้ชำนาญงานไม้ รายละเอียดของลวดลายประดับจึงมีความงดงามและหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ด้านข้างอาคารฝั่งหนึ่งประดับลายปูนปั้นรูปพวงมาลัย บันทึกภาพเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
หม่องโง่ยซิ่นเป็นบุตรของหม่องส่วยอัตถ์ ที่สืบทอดงานในธุรกิจป่าไม้จากบิดา เขาได้สร้างอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้แบบเรือนขนมปังขิง หลังคาทรงมะนิลา บนถนนในย่านกาดกองต้าขึ้นในปี พ.ศ. 2451 โดยใช้ช่างฝีมือชาวพม่า เมื่อแรกสร้างอาคารชั้นล่างใช้เป็นสำนักงานบริษัทค้าไม้ ชั้น 2 เป็นส่วนที่พักอาศัย และมีห้องพระอยู่ชั้นบนสุด ประดับด้วยกระจกสี มีบันไดที่ทำซ่อนไว้สำหรับขึ้นไปบนห้อง หน้าจั่วของห้องพระที่อยู่ตรงกลางถือเป็นหน้าจั่วประธาน มีรายละเอียดการประดับประดาที่พิเศษแตกต่างไปจากหน้าจั่วทางฝั่งซ้ายและขวาของตัวอาคาร ในกรอบหน้าจั่วประดับด้วยลายฉลุ ยอดจั่วมีสรไน (สะระไน) หรือเสาไม้กลึง และตามแนวกรอบหน้าจั่วมีเสาไม้กลึงขนาดเล็กๆ ประดับเรียงรายลดหลั่นลงมาจนถึงมุมหลังคา ตรงกลางหน้าจั่วประธานแกะสลักเป็นตัวอักษร MNZ ซ้อนกันอยู่ในวงกลม ซึ่งเป็นตัวย่อชื่อหม่องโง่ยซิ่น ห้องพระที่อยู่ชั้นบนสุดนี้มีระเบียงทางด้านหน้าโดยลูกกรงทำเป็นไม้ฉลุสวยงามและมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ “Moung Ngwe Zin” ประดับอยู่ด้วย
ชั้นบนสุดของอาคารเป็นห้องพระ ประดับด้วยกระจกสี (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ส่วนหน้าจั่วฝั่งซ้ายและขวาประดับด้วยชุดลายฉลุและเสาสรไนที่ยอดจั่วแบบเดียวกับหน้าจั่วประธาน แต่ไม่มีการประดับเสาไม้กลึงขนาดเล็ก ตรงกลางหน้าจั่วฝั่งซ้ายและขวาประดับรูปกระต่ายและวัวตามลำดับ ซึ่งอาจหมายถึงปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับเจ้าของบ้าน ระเบียงชั้น 2 ทั้งทางด้านหน้าและด้านข้างตัวอาคารทำเป็นไม้ฉลุเช่นเดียวกัน เหนือระเบียงมีไม้ฉลุเป็นช่องลม ส่วนเสาระเบียงเป็นเสาไม้กลึงอย่างสวยงาม เหนือบานประตูทุกบานประดับลวดลายไม้ฉลุในกรอบครึ่งวงกลมที่ภายในแบ่งเป็นช่องๆ อย่างรัศมีดวงอาทิตย์ ภายในตัวอาคาร ฝ้าเพดานประดับด้วยแผ่นดีบุกดุนลายนำเข้าจากออสเตรเลีย สะท้อนถึงฐานะอันมั่งคั่งของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังมีห้องใต้ดินที่ใช้เป็นที่หลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
สามล้อถีบด้านหน้าอาคารหม่องโง่ยซิ่น ซึ่งคงเป็นช่วงที่ปรับเป็นห้องเช่าและที่อยู่อาศัยเท่านั้น
บันทึกภาพเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
อาคารหม่องโง่ยซิ่นในปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์อย่างดีโดยทายาท ชั้นล่างเปิดร้านกาแฟ “หม่องโง่ยซิ่นคาเฟ่”
อาคารหลังนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา
จากกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ ประจำปี 2550
ในปี พ.ศ. 2499 บ้านหม่องโง่ยซิ่นถูกดัดแปลงเป็นโรงแรมและไนท์คลับตามสมัยนิยม ก่อนจะปรับปรุงแบ่งเป็นห้องเช่าในเวลาต่อมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเพื่อการอนุรักษ์โดยคุณนพรัตน์ สุวรรณอัตถ์ ทายาทรุ่นที่ 4 และเปิดเป็นร้านกาแฟ “หม่องโง่ยซิ่นคาเฟ่” ภายในบ้านยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับบริษัททำไม้ในลำปาง ประวัติความเป็นมาของบ้านหลังนี้ รวมถึงอาคารเก่าต่างๆ ในย่านกาดกองต้า ด้วยความงดงามทางสถาปัตยกรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ และการบำรุงรักษาโดยทายาท ส่งผลให้อาคารหลังนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา จากกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ ประจำปี 2550
แหล่งอ้างอิง
น. ณ ปากน้ำ. แบบแผนบ้านเรือนในสยาม. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2531.
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์. เล่าเรื่องเมืองลำปางเล่มที่ 3 คนลำปาง ชาติพันธุ์ในชั้นประวัติศาสตร์. ลำปาง : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 2559.
กนกวรรณ อู่ทองทรัพย์. นครลำปาง : การค้าไม้ การเติบโตของบริษัทอังกฤษและชาวพม่า. เข้าถึงจาก http://www.culture.lpru.ac.th/ebook/modules/ebook/file/pdf/sub/lampang1_Cut3.pdf
คุณากร. เรื่องเล่าเคล้าอาคาร จากเรือนแถวของทายาทผู้ว่าการรัฐมะละแหม่ง สู่คาเฟ่และแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในกาดกองต้า จังหวัดลำปาง. เข้าถึงจาก https://readthecloud.co/moungngwezin-lampang/