สาคูต้น
รู้รอบสำรับ

สาคูต้น

 

ต้นสาคู (Sago) เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ในสกุล Metroxylon เป็นพืชท้องถิ่นที่พบในภูมิภาคร้อนชื้น บริเวณคาบสมุทรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย (Oceania) เช่น ภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาะนิวกินี พบว่าทุกแห่งที่มีต้นสาคูนั้น ต่างมีวัฒนธรรมการกิน-อยู่ที่เกี่ยวข้องกับพืชชนิดนี้ด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะการนำแป้งจากต้นสาคูนำมาบริโภค อันเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล

 

ลำต้นสาคูมีเปลือกหุ้มหนา ภายในลำต้นประกอบด้วยเส้นใยและแป้งเป็นจำนวนมาก ต้นสาคูจะเริ่มสะสมแป้งเมื่ออายุได้ 4-5 ปี และจะมีปริมาณแป้งสูงสุดตอนใกล้จะออกดอกเมื่ออายุราว 8 ปี ซึ่งแป้งเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปเลี้ยงดอกและผลของต้นสาคู ก่อนจะล้มตายไปตามธรรมชาติ ต้นสาคูที่เหมาะนำมาสกัดเอาแป้งจะต้องเป็นต้นสาคูที่อายุราว 8 ปี และยังไม่ออกดอก ถึงจะให้ปริมาณแป้งจำนวนมาก

 

กรรมวิธีการสกัดแป้งจากต้นสาคูนั้น โดยหลักแล้วจะมีกระบวนการเตรียมที่คล้ายคลึงกันในทุกที่ คือ นำเนื้อในของต้นสาคูมาย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องมือต่างๆ แล้วนำมาคั้นเอาน้ำแป้ง ทิ้งไว้ให้ตกตะกอน จะได้เนื้อแป้งสีนวลๆ เมื่อนำไปพึ่งให้แห้งสนิท แล้วเก็บใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิด สามารถเก็บได้นานหลายเดือน ต้นสาคูที่สมบูรณ์เต็มที่จะให้แป้งมากนับร้อยกิโลกรัม

 

ที่บ้านหัวพรุ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง แป้งสาคูต้นที่ผ่านการร่อนให้เป็นเม็ด จะต้องนำมาตากแดดให้แห้งสนิทบนสาดกระจูดที่ดูดซับความชื้นได้ดี 

 

ชนเผ่าในเกาะนิวกินีที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ดำรงชีพด้วยแป้งจากต้นสาคูเป็นอาหารหลักทั้งยังใช้แป้งสาคูเป็นของมีค่าในกระบวนการแลกเปลี่ยนผลผลิต แป้งที่ได้จะนำมาปรุงผ่านความร้อน ด้วยวิธีการต้มในน้ำเดือด กวนให้แป้งเหนียวจับตัวกัน หรือบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่นึ่งหรือย่าง นำมากินกับเนื้อสัตว์ที่หาได้ เช่น ปู ปลา กุ้ง  ในอินโดนีเซียมีการนำแป้งจากต้นสาคูมาทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ขณะที่ซาราวัก มาเลเซีย นิยมทำเป็นเม็ดสาคู (Sago Pearl) นำมาทำขนมใส่น้ำกะทิและน้ำตาล หรือนำมาผสมกับรำข้าว

 

ขนมปากหม้อทำด้วยแป้งสาคูต้น เนื้อแป้งจะมีความเหนียวนุ่มลื่น  มีขายที่ตลาดป่าไผ่ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

 

ในประเทศไทยพบการบริโภคแป้งจากต้นสาคูในท้องถิ่นภาคใต้ นิยมนำมาทำขนมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมจาก ขนมปากหม้อ ขนมขี้มัน เป็นต้น หากเป็นท้องถิ่นแถบจังหวัดชายแดนใต้ นิยมนำมาทำข้าวเกรียบปลาที่เรียกว่า กรือโป๊ะ ทำมาจากแป้งสาคูผสมกับเนื้อปลา ปรุงรสด้วยเกลือ นวดให้เข้ากัน แล้วตัดเป็นท่อนเล็กๆ นำไปนึ่งหรือทอด นอกจากนี้ยังนิยมนำยอดอ่อนของต้นสาคูมาทำ อาจาด ดองในน้ำส้มสายชู ผสมเกลือและน้ำตาล เป็นเครื่องเคียงกินแนมกับอาหารจานหลัก 

 

“ขนมสาคูต้นเปียก” เนื้อแป้งเป็นสีน้ำตาลใส ราดด้วยน้ำกะทิ รสชาติหวานมัน

 

นอกจากนี้ หากทำเป็นเม็ดสาคู เช่นที่ท้องถิ่นควนขนุน จังหวัดพัทลุง นิยมนำมาทำสาคูเปียก ปัจจุบันเป็นขนมขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นที่ผู้มาเยือนต้องลิ้มลอง ที่นี่จะเรียกแป้งจากต้นปาล์มสาคูว่า "แป้งสาคูต้น" เพื่อให้แตกต่างจากเม็ดสาคูที่ทำจากมันสำปะหลัง วิธีการทำสาคูต้นเปียกไม่ยาก นำแป้งสาคูต้นลงไปกวนในน้ำร้อน จนแป้งเริ่มจับตัวกัน แต่ต้องไม่นานเกินไปจนแป้งเหนียวข้นเหมือนอย่างแป้งเปียก จะให้ดีต้องให้เม็ดสาคูยังเป็นไตแข็งๆ อยู่บ้าง จากนั้นเติมน้ำตาล ราดหน้าด้วยหัวกะทิรสเค็มๆ มันๆ รสสัมผัสของแป้งสาคูต้น มีความแตกต่างจากแป้งสาคูที่ทำจากมันสำปะหลังที่เราคุ้นชินอย่างเห็นได้ชัด  เนื้อแป้งสีน้ำตาลอ่อนมีความเหนียวหนึบและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เฉพาะตัว จึงไม่นิยมแต่งเติมส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด เผือก มะพร้าวอ่อน เพราะจะทำให้กลิ่นหอมของสาคูหายไปนั่นเอง  

 

ขนมสาคูต้นเปียกมีขายทุกวันที่ “ร้านขนมหวานป้ากี้” ร้านขนมไทยที่ขึ้นชื่อและเก่าแก่ในอำเภอควนขนุน  

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ