วัดประเดิม วัดเก่าเมืองชุมพร

วัดประเดิม วัดเก่าเมืองชุมพร

 

ภายในวัดประเดิม หรือวัดสุทธาวาส ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ แม้ไม่ปรากฏช่วงสมัยแรกสร้างที่ชัดเจน แต่ชาวชุมพรเชื่อว่า บริเวณที่ตั้งวัดประเดิมแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองชุมพรเก่ามาก่อน และยังเชื่อกันด้วยว่า วัดประเดิมก็คือวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเป็นวัดแรกในเมืองชุมพรเก่านั่นเอง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งสำคัญในวัดประเดิม ได้แก่ “พระปรางค์” สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ “กุฏิหลวงพ่อเวศน์ ภูริปญฺโญ” และ “เจดีย์ทรงระฆัง” ก่ออิฐถือปูน อีกองค์หนึ่ง เป็นโบราณสถาน โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479

 

เจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกุฏิหลวงพ่อเวศน์ ภูริปญฺโญ

 

ลักษณะเป็นเจดีย์รายขนาดเล็ก ปัจจุบันถูกบูรณะรักษาไว้ตามสภาพ 

 

เจดีย์ทรงระฆัง ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ ณ ลานวัดประเดิม ไม่ไกลจากกุฏิหลวงพ่อเวศน์ ภูริปญฺโญ เป็นเจดีย์รายขนาดเล็กๆ แต่เดิมคงมีอยู่มากกว่าหนึ่งองค์ แต่ทรุดโทรมพังทลายไปหมด เมื่อครั้งที่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณเดินทางมาสำรวจโบราณสถานต่างๆ ในจังหวัดชุมพร เมื่อราวปี 2521 ได้บันทึกภาพเจดีย์องค์นี้ไว้ จะเห็นว่ามีสภาพไม่ต่างจากในปัจจุบันมากนัก 

 

ภาพถ่ายเมื่อราวปี 2521  อาคารที่อยู่ทางด้านหลังยังเป็นอาคารไม้ยกใต้ถุนสูง (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)  

 

เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันถูกบูรณะรักษาไว้ตามสภาพ 

 

โบราณสถานลำดับต่อไปคือ กุฏิหลวงพ่อเวศน์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือภายในวัดประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 สมัยหลวงพ่อเวศน์เป็นเจ้าอาวาส โดยสร้างเป็นอาคารทรงไทยปั้นหยาผสมจั่ว ใต้ถุนสูง ยอดจั่วประดับด้วยเสากลึง ที่เชิงจั่วประดับลายฉลุไม้ ตัวอาคารมีมุขด้านหน้า หน้าจั่วของมุขฟากหนึ่งประดับไม้ฉลุรูปหงส์ อีกฟากเป็นไม้ฉลุรูปครุฑ ด้านหน้าของอาคารมีซุ้มประตูทรงปราสาทยอด 1 ซุ้ม อาคารหลังนี้มีความยาวประมาณ 20 เมตร กว้าง 15 เมตร เดิมใช้เป็นกุฏิสงฆ์และที่สำหรับประชุมสงฆ์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดประเดิม หรือพิพิธภัณฑ์ตำบลตากแดด

 

 กุฏิหลวงพ่อเวศน์ เดิมใช้เป็นกุฏิสงฆ์และที่สำหรับประชุมสงฆ์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดประเดิม หรือพิพิธภัณฑ์ตำบลตากแดด

 

 กุฏิหลวงพ่อเวศน์ ภาพถ่ายเมื่อราวปี 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

บนผนังด้านทางเข้ามีปูนปั้นเป็นข้อความบันทึกถึงชื่อผู้สร้างและปีพุทธศักราชที่สร้างขึ้น 

 

 กุฏิหลวงพ่อเวศน์ ภาพถ่ายเมื่อราวปี 2521 ลวดลายไม้ฉลุเหมือนอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ไม้แกะสลักรูปหงส์ประดับที่หน้าจั่วกุฏิหลวงพ่อเวศน์

 

ไม้แกะสลักรูปครุฑประดับที่หน้าจั่วกุฏิหลวงพ่อเวศน์

 

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งพื้นที่สำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของมีค่ามากมายหลายรายการออกเป็นหลายห้อง ได้แก่ ห้องแสดงใบเสมาหินทราย ภาพอดีตเจ้าอาวาสวัดประเดิม บานหน้าต่างพระอุโบสถหลังเก่า ห้องแสดงชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบจากแม่น้ำชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ชิ้นส่วนหม้อสามขา ไห เครื่องถ้วยยุโรป เครื่องถ้วยจีน ห้องแสดงคัมภีร์ใบลาน เช่น ตำรายา ตำราไสยศาสตร์ ใบลานรุ่นหลังที่ใช้การพิมพ์แทนการจาร สมุดฝรั่ง พระพุทธรูปจำนวนมาก ทั้งที่สลักจากหินทราย ปูนปั้น และโลหะ ห้องแสดงเครื่องจักสานในชีวิตประจำวัน ห้องแสดงเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และห้องแสดงประวัติรวมทั้งผลงานของคุณสมคิด พยุหกฤษ อดีตผู้ใหญ่บ้านผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น

 

ใบเสมาหินทรายจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ 

 

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปมีทั้งปูนปั้นและหินทราย เดิมพบอยู่บนฐานชุกชีภายในอุโบสถเก่า นำมาจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ 

 

ภาชนะเคลือบแบบต่างๆ มีทั้งที่เป็นสมบัติของวัดมาแต่ดั้งเดิมกับที่ชาวบ้านนำมามอบให้มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

 

หนังสือบุดหรือสมุดไทย ส่วนใหญ่เป็นตำรายากับตำราไสยศาสตร์

 

ไม้ฉลุประดับอยู่ที่ขื่อคานภายในอาคารกุฏิหลวงพ่อเวศน์ทำเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ 

 

ไม่เพียงเจดีย์ทรงระฆัง ที่ตั้งอยู่กลางลานวัด กับกุฏิหลวงพ่อเวศน์ ภูริปญฺโญ ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงบางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์ตำบลตากแดดเท่านั้น ภายในวัดประเดิมยังมีสิ่งสำคัญซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2479 เช่นเดียวกัน นั่นคือพระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

 

พระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีระเบียงคดล้อมรอบ

 

พระปรางค์องค์นี้มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง มีลานโดยรอบ การเข้ามายังลานแห่งนี้ต้องเข้าทางทิศตะวันออก ถัดจากลานมีระเบียงคดล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะพื้นถิ่น ด้านหน้าพระปรางค์มีป้ายระบุว่า “...พระบรมสารีริกธาตุวัดประเดิม ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2461 เมื่อครั้งพ่อปู่เวส ภูริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดประเดิม ได้ดำเนินการจัดสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น เพื่อทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดใช้การไม่ได้ โดยได้พบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในผอบทองคำท่ามกลางพระโมฬีที่จัดเรียงเป็นระเบียบล้อมรอบผอบ อัดแน่นภายในบาตรดินขนาดใหญ่ อยู่ในฐานเจดีย์พระประธานที่ทรุดตัว ปรักหักพัง บริเวณวิหารร้างนั้น ทางวัดโดย พ่อปู่เวส ภูริปัญโญ ได้จัดงานสมโภช ประกอบพิธีให้พุทธบริษัทได้สักการะบูชาในวันสำคัญประจำปี และถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน...”

 

ระเบียงคดล้อมรอบพระปรางค์ ถ่ายจากทางด้านหลัง ภาพถ่ายเมื่อปี 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ระเบียงคดล้อมรอบพระปรางค์ ถ่ายจากทางด้านหลัง ภาพถ่ายเมื่อปี 2562

 

ปูนปั้นรูปยักษ์แบกประดับอยู่ที่กำแพงด้านหน้า ภาพถ่ายเมื่อปี 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

สภาพปูนปั้นรูปยักษ์แบกที่เห็นในปัจจุบัน 

 

ซุ้มทางเข้าไปสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ประดับลวดลายปูนปั้น มีจารึกว่า คณะสามัคคีของวัด ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2506

 

ทั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ตำบลตากแดดซึ่งรวบรวมโบราณวัตถุสำคัญของชาวบ้านในย่าน มีหลักฐานชิ้นหนึ่งเล่าเรื่องราวคราวสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ไว้ด้วย ความว่า “...ในปี พ.ศ. 2509 พระครูสังวรอธิวัฒน์ พร้อมด้วยคุณหญิงอนุกูลกิจ วิฑูร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุวัดประเดิม ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระสังฆราช (วัดสระเกศ) และทรงโปรดพิจารณารับรองว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุแท้จริง ทั้งนี้พระองค์ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุรวมสมทบเพื่ออัญเชิญไปบรรจุด้วย พุทธบริษัทจัดงานสมโภชประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระปรางค์วัดประเดิม เมื่อวันอังคารที่ 14 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 ตรงกับแรม 2 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก..”


 

พระพุทธรูปและรูปเคารพอดีตเจ้าอาวาสและพระเกจิของจังหวัดชุมพรที่ชาวบ้านนับถือ ประดิษฐานอยู่ภายในระเบียงคด

 

 

รูปสิงห์ปูนปั้นประดับที่ราวบันไดซุ้มประตู ฝั่งหนึ่งเป็นสิงห์แบบไทย อีกฝั่งหนึ่งเป็นสิงห์แบบจีน 

 

อะหัง วันทามิ ทูระโต อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส” คำกล่าวบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่ติดประดับอย่างสวยงามหน้าพระปรางค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพิ่มความเข้มขลังขึ้นในที พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาสามารถเข้าเยี่ยมชมและกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุภายในวัดประเดิมได้ทุกวัน

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ