ความทรงจำม้งนครไทย
ข้างหลังภาพ

ความทรงจำม้งนครไทย

 

ในช่วงทศวรรษที่ 2510 - 2520 อำเภอนครไทยกลายเป็นพื้นที่ต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยเฉพาะบนภูหินร่องกล้าซึ่งเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของ พคท. ได้เกิดการปะทะกันอยู่บ่อยครั้ง ผู้คนบนภูหินร่องกล้ามีทั้งกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์และชาวเขาเผ่าม้งที่เป็นแนวร่วมของ พคท. จึงอยู่ในความสนใจของทางการอย่างใกล้ชิด ในช่วงทศวรรษนั้นรัฐบาลใช้กลวิธีหลายรูปแบบทั้งการจัดการเรียนการสอน การสนับสนุนด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น เยี่ยมเยียนหมู่บ้าน แจกอาหารและสิ่งของจำเป็น เพื่อดึงใจประชาชนทั้งกลุ่มชนบนพื้นที่สูง เช่น กลุ่มชาวม้ง และกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในอำเภอนครไทย

 

เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวทำให้กลุ่มชาวเขาเผ่าม้งที่อาศัยอยู่บนยอดภูหินร่องกล้ามาเนิ่นนานกลับถูกมองว่าจะกลายเป็นภัยได้ พี่น้องชาวม้งจึงต้องเลือกว่าจะเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลายคนที่เคยถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนพื้นราบ บ้างถูกตัวแทนของรัฐกลั่นแกล้งจนเกิดความคับแค้นใจจึงเลือกเข้าป่าไปร่วมอุดมการณ์กับ พคท. เพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐ ส่วนกลุ่มที่เลือกเข้ากับภาครัฐต้องอพยพลงมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่รัฐจัดเอาไว้ให้เพื่อควบคุมดูแล กล่าวกันว่าในช่วงเวลานั้นพี่น้องชาวม้งต้องอยู่กันอย่างระแวดระวังภัยจากรอบด้านจนเรียกได้ว่าชีวิตหาความสุขได้ยากเหลือเกิน

 

พี่น้องชาวม้ง ณ บ้านเทอดไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก 

(ที่มา : กองทรัพย์ (ทองคำพงษ์) ทนุเสริม) 

 

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ความขัดแย้งทางอุดมการณ์เริ่มคลี่คลายลง ชาวม้งได้ขยับขยายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ทางการจัดสรรไว้ให้และเริ่มปรับตัวมากขึ้น ได้มีบัตรประชาชน มีโอกาสได้ร่ำเรียนหนังสือ และสร้างเนื้อสร้างตัวจากการทำงานทั้งในภาคเกษตรและการทำธุรกิจของตัวเอง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของชาวม้งเปลี่ยนไป ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ชาวม้งในเขตอำเภอนครไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยส่วนราชการท้องถิ่น ที่สำคัญคือการเข้าร่วมขบวนแห่งานประเพณีปักธงชัยซึ่งเป็นงานประจำอำเภอที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้งานประเพณีปีใหม่ม้งซึ่งจัดขึ้นในหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านน้ำแจ้งพัฒนา ตำบลนาบัว บ้านห้วยน้ำไซใต้ บ้านร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม ก็ได้รับการประชาสัมพันธ์จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของอำเภอนครไทยในปัจจุบัน

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ