เรื่อง(ไม่ถูก)เล่าในประวัติศาสตร์ 120 ปี ราชดำเนิน
แวดวงเสวนา

เรื่อง(ไม่ถูก)เล่าในประวัติศาสตร์ 120 ปี ราชดำเนิน

 

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัด “ถนนราชดำเนิน” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 เป็นเวลา 120 ปีที่ถนนสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ผ่านเรื่องราวนับร้อยพันที่ผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมและการเมืองในแต่ละยุคสมัย มีภาพความทรงจำหลากหลายชุดที่เกิดขึ้นโดยมีถนนราชดำเนินเป็นฉากร่วมกัน แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าหรือวิเคราะห์ถึงสิ่งที่อาจซ่อนอยู่เบื้องหลัง

 

ในกิจกรรม Museum in Focus 2019 ที่จัดขึ้นโดยมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นงานเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑ์และการศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม มีหัวข้อการเสวนาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในหน้าประวัติศาสตร์ 120 ปี ราชดำเนิน” วิทยากรโดย รศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สนใจศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่สะท้อนผ่านงานศิลปสถาปัตยกรรม นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ในช่วงเวลา 120 ปีของถนนราชดำเนินและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อจัดทำนิทรรศการร่วมกับมิวเซียมสยาม

 

รศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความสำคัญของถนนราชดำเนินที่อาจารย์ชาตรีหยิบยกขึ้นมานำเสนอ คือ ถนนราชดำเนินในฐานะ “พื้นที่สาธารณะ” ที่แสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ในช่วงเวลา 120 ปีที่ผ่านมา ถนนราชดำเนินถูกใช้เพื่อสื่อสารอุดมการณ์ของรัฐไปสู่ประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อรัฐ หรือกับประชาชนด้วยกันเอง ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ของถนนราชดำเนินโดยการวิเคราะห์ผ่านความทรงจำชุดต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน ตลอดจนเป็นตัวแบบในการอ่านสังคมไทยในภาพรวมได้

 

เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในความทรงจำที่ถูกเลือก

 

เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์กระแสหลัก มักกล่าวถึงประวัติศาสตร์การสร้างถนนราชดำเนินในแง่การเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการสร้างความศิวิไลซ์ให้บ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ความสง่างามของถนนสอดรับกันดีกับอาคารราชการที่อยู่รายรอบ ขณะที่เสียงจากความทรงจำชุดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ตลอดจนเรื่องราวของผู้คนธรรมดาสามัญที่ใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับถนนสายนี้ ค่อยๆ แผ่วเบาลง คงเหลือเพียงความทรงจำเล็กๆ ส่วนบุคคล หรือเป็นความทรงจำร่วม (Collective Memory) ของคนบางกลุ่มเท่านั้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในบรรดาเรื่องราวที่ถูกเล่าถึงนั้น ใครเป็นผู้เล่า ? และเรื่องใดบ้างที่ถูกให้ความสำคัญ ?

 

หลักฐานที่อาจารย์ชาตรีใช้ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว ประกอบด้วย บันทึกความทรงจำ เอกสารราชการ แผนที่เก่ากรุงเทพฯ ภาพถ่ายเก่า และวิดีทัศน์ ซึ่งเมื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ร่วมกันแล้ว พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ บางเรื่องแทบไม่เคยถูกบอกเล่าหรือถูกทำให้จดจำในความหมายใหม่เพื่อเป้าหมายบางอย่าง ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ 120 ปี ถนนราชดำเนินในครั้งนี้ จึงเป็นการพยายามรื้อค้นเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเรื่องเล่าชุดต่างๆ โดยประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาอธิบายในงานเสวนา มีดังนี้

 

[1]

ถนนราชดำเนิน สัญลักษณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยรัชกาลที่ 5

 

ประเด็นนี้อาจารย์ชาตรีใช้การวางแนวถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นกรณีศึกษา อธิบายว่าการตัดถนนราชดำเนินสะท้อนถึงการสถาปนาอำนาจรวมศูนย์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ประการหนึ่ง คือ เป็นการพัฒนาพื้นที่ทางตอนเหนือของพระนคร ซึ่งเป็นเขตอำนาจของวังหน้าเดิม จะเห็นว่าภายหลังจากการยกเลิกตำแหน่งวังหน้าแล้ว ตามมาด้วยโครงการสร้างพระราชวังดุสิต การตัดถนนราชดำเนิน และการขยายสนามหลวงมาถึงเขตพื้นที่ของวังหน้าเดิม ทำให้วังเจ้านายต่างๆ ที่เคยขึ้นกับวังหน้าหายไปด้วย

 

อีกประการหนึ่งที่ถูกยกมากล่าวถึง คือ การตัดถนนผ่านวัดปรินายก เมื่อดูจากแผนที่เก่ากรุงเทพฯ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 อันเป็นช่วงเวลาก่อนการตัดถนนราชดำเนิน จะเห็นว่าวัดปรินายก ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในสมัยรัชกาลที่ 2 เดิมเป็นวัดขนาดใหญ่ ในแผนที่ยังปรากฏผังเขตพุทธวาสที่ประกอบด้วยพระอุโบสถและเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ แต่เมื่อนำไปเทียบกับแผนที่ฉบับที่เขียนขึ้นภายหลังจากสร้างถนนราชดำเนินแล้ว จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเขตพุทธาวาสอันเนื่องมาจากการตัดถนนราชดำเนิน คือ มีการย้ายตำแหน่งพระอุโบสถ โดยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่และมีขนาดเล็กลง ส่วนเจดีย์ประธานหายไป

 

แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับปี พ.ศ. 2430 เห็นอาณาบริเวณวัดปรินายกเดิมและตึกดินที่มีอยู่ก่อนการตัดถนนราชดำเนิน

(ที่มา : หนังสือแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3)


เมื่อพิจารณาประกอบกับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรื่องการสร้างถนนราชดำเนิน พบว่ามีประกาศการแก้แนวถนนราชดำเนินให้เปลี่ยนมายึดตามแนวถนนเบญจมาศเดิม ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อพื้นที่วัดปรินายก

 

“เดิมกำหนดให้กรมศุขาภิบาลตัดทางตั้งแต่ถนนพระสุเมรุข้ามคลองบางลำภู ไปในตำบลพานถม ออกตำบลป้อมหักกำลังดัษกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บันจบถนนเบญจมาศ สร้างถนนราชดำเนิน บัดนี้ได้ทอดพระเนตรเห็นแผนที่ ซึ่งเจ้าพนักงานตรวจทางทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ความว่าถ้าตัดถนนไปในตำบลบ้านพานถม จะไม่เป็นถนนที่ได้แนวตรงตลอดถนนเบญจมาศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้สร้างถนนเทวียูรยาตรขึ้นใหม่อีกสายหนึ่ง ซึ่งจะได้ผ่านไปในตำบลบ้านพานถม ให้ต้องตามกระแสพระราชดำริห์เดิม แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตำบลกำหนดตัดที่สร้างถนนราชดำเนินตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อ ไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัษกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บันจบถนนเบญจมาศ แทนกำหนดตำบลที่ตัดถนนในประกาศเดิม เพื่อให้ถนนราชดำเนินสายนี้ได้แนวตรงตลอดถนนเบญจมาศ”

(ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 ตุลาคม ร.ศ. 118 เล่ม 16 หน้า 387 เข้าถึงจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา )

 

ในกรณีนี้อาจารย์ชาตรีเปิดประเด็นไว้ว่า เป็นการสะท้อนถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ลดอำนาจของขุนนางลง หากพิจารณาในบริบทเก่าซึ่งเป็นรัฐจารีต ผลอาจจะแตกต่างออกไป ถือเป็นประเด็นที่ควรมีการตั้งข้อสังเกตและถกเถียงกันทางวิชาการต่อไป

 

[2]

การลบ / ลืม ประวัติศาสตร์ของ “คณะราษฎร”

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง พ.ศ. 2475 ที่มีคณะราษฎรเป็นแกนนำ ถนนราชดำเนินได้ถูกสร้างความหมายใหม่โดยมีคณะราษฎรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านโครงการก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์และอาคารสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎรที่ตั้งเรียงรายอยู่ตลอดถนนราชดำเนินกลาง โดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็น landmark สำคัญ ด้วยเหตุนี้ ต่อมาถนนราชดำเนินจึงกลายเป็นสมรภูมิหลักในการช่วงชิงพื้นที่ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร

 

อาจารย์ชาตรีกล่าวว่า พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่แสดงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ-ประชาชน ดังนั้น เมื่อคณะราษฎรเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงอำนาจใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตย จึงต้องสร้างเรื่องราวใหม่ทับซ้อนลงบนพื้นที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งมีความสำคัญในฐานะพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมระหว่างรัฐ-ประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ บนถนนราชดำเนิน ในลักษณะที่มีการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างระบอบเก่า-ระบอบใหม่ เช่น การเลือกใช้เพียงหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุสัญลักษณ์ การเลือกพัฒนาเฉพาะถนนราชดำเนินกลางเป็นหลัก ซึ่งเดิมมีเพียงต้นมะฮอกกานีปลูกเรียงรายอยู่สองฝั่งถนน การใช้พื้นที่ถนนราชดำเนินในรัฐพิธีมากขึ้น เช่น กิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระต่างๆ ของรัฐบาล เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาได้มีความพยายามลบเลือนหรือลดความสำคัญของคณะราษฎรออกจากหน้าประวัติศาสตร์ถนนราชดำเนิน เริ่มปรากฏชัดขึ้นหลังทศวรรษที่ 2490 เช่น ในปี พ.ศ. 2494 เคยมีแนวความคิดรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อสร้างเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 เพื่อสดุดีในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ปี 2475 หรือเหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันถึงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร คือ การรื้ออาคารศาลาเฉลิมไทย เมื่อ พ.ศ. 2532

 

แบบพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่ถูกเสนอเมื่อปี พ.ศ. 2494 (ที่มา : www.silpa-mag.com)  

 

อาจารย์ชาตรีได้ยกวาทะสำคัญของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ต่อกรณีการรื้อถอน “ศาลาเฉลิมไทย” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2532 ขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ความว่า

“... การสร้างโรงหนังเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง… แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงาม กลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาอย่างยิ่ง… เมื่อโรงหนังเฉลิมไทยถูกทุบทิ้งไปแล้ว ภาพของวัดราชนัดดาและโลหะปราสาทก็จะปรากฏแจ่มแจ้ง…เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรมันมือ เที่ยวทุบทิ้งตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมกรุงเทพฯ”

 

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ถนนราชดำเนิน ภาพถ่ายโดย Fabrizio La Torre เมื่อปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ.1957)

(ที่มา : Facebook 77PPP)

 

ทั้งหมดนี้เป็นการลดทอนคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ในเวลาต่อมาความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรบนถนนราชดำเนินค่อยๆ หดเล็กลง และรางเลือนไปจากการรับรู้ของเด็กรุ่นใหม่


[3]

“ถนนแห่งประชาธิปไตย” ที่อ่อนแรง

 

ในประวัติศาสตร์ 120 ปี ถนนราชดำเนิน หลายครั้งที่ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองภาคประชาชน นับตั้งแต่การเดินขบวนเรื่องเขาพระวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2483 การเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งอันไม่ชอบธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2500 อันเป็นผลให้เกิดการรัฐประหารในปีเดียวกัน การแสดงพลังของประชาชนนับแสนคนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี พ.ศ. 2535 รวมถึงเหตุการณ์ชุมชนทางการเมืองของมวลชนฝ่ายต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

ในมุมมองการศึกษาบริบทสังคมและการเมืองที่สะท้อนผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ตลอดจนผังเมืองต่างๆ อาจารย์ชาตรีได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมามีความพยายามลดความหมายของถนนราชดำเนินที่เคยถูกนิยามว่าเป็น “ถนนแห่งประชาธิปไตย” ผ่านการใช้พื้นที่และการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพต่างๆ  เช่น การออกแบบอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่แยกคอกวัว ให้ความรู้สึกคล้ายสถูปเจดีย์ที่ระลึกถึงความสูญเสียมากกว่าที่จะสร้างความรู้สึกถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าสถาปนิกผู้ออกแบบจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ผลที่ออกมาถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการปลุกพลังมวลชน เช่นเดียวกับอนุสรณ์สถานเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง

 

พานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเดิมเป็นสีดำ ภาพถ่ายโดย Harrison Forman ราว พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) 

(ที่มา : https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east/ )

 

นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีความพยายามลดความแข็งกร้าวของถนนราชดำเนิน ด้วยการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามด้วยดอกไม้ การประดับไฟสว่างไสวในวาระสำคัญ การเปลี่ยนสีอาคารบนถนนราชดำเนินให้สว่างขึ้น ในกรณีนี้อาจารย์ชาตรียืนยันอย่างหนักแน่นว่า อาคารตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางที่สร้างขึ้นในยุคคณะราษฎรนั้นไม่เคยเป็นสีเหลือง โดยนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับอาคารร่วมสมัยกันที่นิยมเผยให้เห็นพื้นผิวแท้จริงของวัสดุ เช่น ตึกไปรษณีย์กลาง บางรัก ที่ปัจจุบันเป็นที่ทำการของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) จะเห็นว่ามีพื้นผิวเป็นคอนกรีตหยาบ กรีดเป็นร่องให้ดูเหมือนว่านำแผ่นหินใหญ่มาก่อ ไม่ทาสี เมื่อผ่านกาลเวลาจึงกลายเป็นสีทึมเทาออกดำ เช่นเดียวกับพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เดิมเป็นสีดำ แต่ภายหลังถูกทาด้วยสีทองสว่าง ทั้งหมดนี้หากเป็นผู้ศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจะเข้าใจดีว่าพลังของสีและงานสถาปัตยกรรม ส่งผลต่อความความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้คน

 

วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559

 

[4]

ความทรงจำส่วนบุคคลของ "คนไร้เสียง"

 

นอกเหนือจากกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่เข้ามามีบทบาทในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมือง บนถนนราชดำเนินดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีความทรงจำเล็กๆ ของคนเล็กๆ ที่ใช้ชีวิตผูกพันกับถนนราชดำเนิน รวมถึงพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สนามหลวง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกผู้คน คนกลุ่มนี้อาจารย์ชาตรีให้คำนิยามว่า “คนไร้เสียง” หมายถึงคนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไปที่มักถูกกลืนหายไปในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งหากเก็บความทรงจำส่วนบุคคลจากคนเหล่านี้ จะช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์บนถนนราชดำเนินให้แจ่มชัดมากขึ้น

 

โรงแรมรัตนโกสินทร์ ภาพถ่ายโดย Harrison Forman ราว พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) 

(ที่มา : https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east/ )

 

ดังจะเห็นว่า สองฝั่งถนนราชดำเนิน ตลอดจนพื้นที่ต่อเนื่อง มีชุดความทรงจำในหลากหลายแง่มุมที่มักไม่ค่อยถูกเอ่ยถึง เช่น บรรดาห้างร้านทันสมัย สถานบันเทิง คลับ บาร์ ที่เคยมีอยู่หลายแห่งบนถนนราชดำเนิน หรือกระทั่งการไล่รื้อย่านชุมชนเก่าเพื่อสร้างสวนสาธารณะ ดังที่เกิดขึ้นกับชุมชนป้อมมหากาฬ โดยไม่สนใจการทัดทานของสังคม นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการใช้พื้นที่สาธารณะโดยอ้างถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น การยุบ-ย้ายตลาดสนามหลวง การปรับปรุง-ล้อมรั้วสนามหลวง เป็นต้น   

 

ตึกห้างไทยนิยม ผ่านฟ้า ห้างสรรพสินค้าทันสมัยบนถนนราชดำเนินในยุคนั้น ปัจจุบันเป็นอาคารเทเวศน์ประกันภัย 

ภาพถ่ายโดย Harrison Forman ราว พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960)  (ที่มา : https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east/ )

 

เหตุที่เน้นย้ำความสำคัญของความทรงจำของคนเล็กคนน้อยนั้น อาจารย์ชาตรีกล่าวว่า ความทรงจำดังกล่าวเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างปัจเจกบุคคลกับพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผูกพัน หวงแหน เป็นเจ้าของ นำมาซึ่งการตรวจสอบระแวงระวังว่ารัฐจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ไปในทิศทางใด ดังนั้น รัฐจึงพยายามให้เราจดจำสิ่งที่รัฐต้องการ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งจะทำให้รัฐเข้ามาจัดการพื้นที่สาธารณะต่างๆ ได้โดยง่าย

 

ป้อมมหากาฬ ภาพถ่ายโดย Harrison Forman ราว พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) 

(ที่มา : https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east/ ) 


ประวัติศาสตร์ 120 ปี ถนนราชดำเนิน จากผลการศึกษาของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ถือเป็นอีกชุดความทรงจำหนึ่งที่นำมาเสนอต่อสังคม และเปิดโอกาสให้มีการคิดต่อยอดและถกเถียงในเชิงวิชาการ เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำของถนนราชดำเนินที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ