ทำความรู้จัก...
หนังสือ "ห้าปีในสยาม"
- "ห้าปีในสยาม" เป็นบันทึกการเดินทางสำรวจของ เฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ เจ้ากรมเหมืองแร่ สมัยรัชกาลที่ 5
- พื้นที่การสำรวจตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในแถบเชียงของ ไปจนถึงคาบสมุทรภาคใต้ รวมถึงการทำเหมืองอัญมณีในภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของสยาม
- ฉบับแปลไทยโดยกรมศิลปากร แบ่งออกเป็น 2 เล่ม โดยเล่ม 2 จัดพิมพ์เมื่อปี 2559 ส่วนเล่ม 1 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2544
- นักอ่านที่สนใจ สามารถเข้าไปอ่าน "ห้าปีในสยาม เล่ม 2" ได้ทางเว็บไซต์ของกรมศิลปากร ที่ http://www.finearts.go.th/parameters/search/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์.html
กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา (Royal Department of Mines and Geology) หรือกรมเหมืองแร่ ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2434 ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อว่า กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งภารกิจสำคัญของกรมเหมืองแร่ในสมัยนั้นคือ การตรวจสอบและจัดทำข้อมูลรายงานเกี่ยวกับแหล่งแร่และการทำเหมืองแร่ในสยาม โดยได้ว่าจ้างชาวตะวันตกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางธรณีวิทยามาทำงาน ได้แก่ นายวอลเตอร์ เดอ มุลเลอร์ (W. De Müller) ชาวเยอรมัน ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมเหมืองแร่ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และนายเฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ (H. Warington Smyth) ชาวอังกฤษ เป็นผู้ช่วย ก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้ากรมเหมืองแร่ เมื่อ พ.ศ. 2438 และลาออกจากราชการใน พ.ศ. 2439
การทำงานที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อสำรวจทางธรณีวิทยา ทั้งในที่ราบลุ่มภาคกลาง หัวเมืองทางเหนือ ไปจนถึงคาบสมุทรมลายูทางใต้ จึงเป็นที่มาของหนังสือ ห้าปีในสยาม (Five Years in Siam from 1891-1896) ซึ่งเป็นบันทึกการสำรวจของนายเฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) หนังสือเล่มนี้ได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย โดย เสาวลักษณ์ กีชานนท์ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร แบ่งเป็น 2 เล่มจบ โดยเล่ม 1 จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2544 และเล่ม 2 พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2559
ปกหนังสือ Five Years in Siam ฉบับพิมพ์ปี 1898
(ที่มา: http://www.payer.de/thailandchronik/chronik1898.htm)
ความน่าสนใจของหนังสือทั้งสองเล่มนี้อยู่ที่บันทึกการเดินทางสำรวจแหล่งทำเหมืองแร่ ซึ่งนอกจากการบันทึกเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสินแร่ อันเป็นภาระหน้าที่และความเชี่ยวชาญโดยตรงของผู้เขียนแล้ว ยังมีสภาพท้องถิ่น วิถีชีวิต และประเพณี ที่ผู้เขียนพบเห็นตลอดการเดินทาง และมีข้อสังเกตตามประสาคนต่างวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงข้อคิดเห็นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคล่าอาณานิคม การปฏิรูประบบราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในสมัยนั้นด้วย ซึ่งมีสอดแทรกอยู่ในบทต่างๆ ตลอดทั้งเล่ม และผู้เขียนยังได้ทำการค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับสยามที่บันทึกโดยชาวต่างชาติคนอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกัน มาใช้ประกอบการเขียนอธิบาย โดยมีเชิงอรรถอ้างอิงไว้ให้ผู้สนใจทำการค้นคว้าต่อไปได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังมีแผนที่และภาพลายเส้นที่วาดโดยผู้เขียน ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจและแต่งแต้มชีวิตชีวาให้แก่บันทึกเล่มนี้
"เรือใบสี่เสากระโดง" ภาพวาดลายเส้นฝีมือผู้เขียน
จากเหนือสู่ใต้ ...
มองสยามในมุมนักธรณีวิทยา
“ห้าปีในสยาม เล่ม 1” บทแรก เป็นการให้ภาพรวมของกรุงเทพฯ ผู้เขียนเปรียบเปรยว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการค้าและท่าเรือเหมือนอย่างเมืองรอตเตอร์ดัม เมืองท่าที่สำคัญของเนเธอแลนด์ โดยได้บรรยายให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองในยุคสมัยที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เช่น ภาพแม่น้ำเจ้าพระยาที่เต็มไปด้วยเรือกลไฟ กิจการโรงสีข้าวด้วยเครื่องจักรตลอดริมฝั่งแม่น้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ข้อคิดเห็นถึงระบบการบริหารราชการของสยามในยุคสมัยที่กำลังมีการปฏิรูป และรวมศูนย์อำนาจมายังส่วนกลาง
บันทึกการสำรวจในเล่มแรกนี้ประกอบด้วย พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง หัวเมืองลาว ราชบุรี และเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่เมืองมะริดถึงภูเก็ต การเดินทางในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดำเนินไปเพื่อค้นหาแหล่งแร่ทับทิม ผ่านเมืองสุพรรณ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ไปจนถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และเมืองพิชัย อุตรดิตถ์ ในส่วนนี้ผู้อ่านจะได้มองเห็นสภาพบ้านเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม และการเดินทางไปตามเส้นทางแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ ส่วนเรื่องสินแร่ที่น่าสนใจในบันทึกช่วงต้นนี้ เช่น แหล่งแร่เหล็กที่ “บ้านน้ำพี้” เมืองอุตรดิตถ์
“เป้าหมายประการแรกของเราอยู่ที่เหมืองแร่เหล็กบางเหมืองที่บ้านน้ำพี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากเส้นทางหลักๆ ที่มุ่งสู่น่านและปากลาย (บนฝั่งแม่น้ำโขง) อันเป็นที่ผลิตดาบ และมีดป่าที่ใช้กันในตำบลทุกๆ เล่ม และที่นี่ข้าพเจ้าก็เจอเรื่องแบบเดิมอีกครั้งคือ ผี เจ้าที่เจ้าทางขี้หวง ซึ่งได้ยืนกรานให้ใครก็ตามที่ทำงานหาสินแร่เหล็กต้องนำควายเผือกที่หายากมาบูชา” (เล่ม 1, หน้า 108)
การเดินทางขึ้นเหนือต่อไปยัง หัวเมืองลาว ใช้เส้นทางผ่านลุ่มแม่น้ำน่าน ซึ่งผู้อ่านจะได้พบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาต่างจากพื้นที่ราบลุ่ม และการเดินทางเปลี่ยนจากทางน้ำมาสู่ทางบก ที่ใช้การเดินเท้า ม้าและช้าง ลัดเลาะผ่านป่าเขา ที่เมืองน่านและเมืองสา ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในลุ่มน้ำน่าน ผู้เขียนได้บันทึกสภาพของบ้านเมืองไว้อย่างละเอียด ทั้งเจ้าเมือง กาด(ตลาด) ผู้คน และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น บ่อเกลือ ที่ถือว่าเป็นสิ่งมีค่าอย่างยิ่งในอดีต
“ที่เมืองงอบ... ใกล้ๆ สายน้ำมีบ่อเกลือหลายบ่อ ซึ่งในระหว่างฤดูฝน น้ำเค็มจะถูกวิดเข้ามาฝนบ่อลึกราว 4 หรือ 6 ฟาธอม (1 ฟาธอม = 2 หลา) เสร็จแล้วก็ปล่อยให้น้ำระเหยกลายเป็นไอ เกลือที่ได้จะนำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดน่านเสียเป็นส่วนใหญ่ บ่อเกลือเหล่านี้ก็มีดวงวิญญาณคอยปกป้อง ซึ่งดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้ายมากกว่าที่น้ำพี้เสียอีก ผู้ผูกขาดค้าเกลือคงพบแล้วว่าวิธีการนี้ได้ผลเสียยิ่งกว่าการใช้ตำรวจ ทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่าด้วย” (เล่ม 1, หน้า 131)
จากนั้นคณะสำรวจเดินทางขึ้นไปยังเมืองเชียงของ แม่น้ำโขง เพื่อสำรวจแหล่งทับทิม เพชร พลอย และเยี่ยมชมการทำเหมืองเพชรพลอยที่บริเวณห้วยปากฮ่าม ห้วยพุง และการร่อนทองที่หุบเขาเมืองงาว ก่อนจะเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ในช่วงนี้ผู้เขียนได้บรรยายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น จีนฮ่อ ข่า ลื้อ เป็นต้น สภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากของผู้คนที่หลวงพระบาง อันเนื่องมาจากโรคระบาดต่างๆ ทั้งไข้ป่า มาเลเรีย บิด และที่น่าสนใจคือเศรษฐกิจการค้าที่หลวงพระบาง ผู้เขียนบันทึกถึงสินค้านำเข้า-ส่งออก มีทั้งของป่า และสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยที่นำเข้ามาโดยพ่อค้าอังกฤษและฝรั่งเศส จากหลวงพระบาง คณะสำรวจเดินทางต่อมายังเมืองเวียงจันทน์ ก่อนจะกลับลงมาทางหนองคาย โคราช ผ่านพื้นที่ป่าทึบแถบดงพญาเย็น
ภายหลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) นายเฮอร์เบิร์ทและคณะ พร้อมด้วยสุนัขคู่ใจชื่อ “โรเวอร์” ได้เดินทางไปยังเมืองราชบุรี เพื่อไปตรวจงานที่ “เหมืองพระเจดีย์” ที่มีคนงานเหมืองเป็นชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ สัมปทานในจังหวัดราชบุรีนั้น เป็นหนึ่งในจำนวนสัมปทานลำดับแรกที่รัฐบาลทำการอนุญาตภายใต้ระบบใหม่ ที่ได้รับการนำเข้ามาใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2434 ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรมเหมืองแร่นั่นเอง ในบทนี้ผู้เขียนยังได้ลงรายละเอียดเรื่องการขอสัมปทานเหมืองในสยาม และกลุ่มคนงานในเหมืองแร่ที่มีทั้งชาวจีนโพ้นทะเล ชาวลาว และคนท้องถิ่น จากนั้นคณะสำรวจได้เดินทางผ่านเขตป่าทึบของเทือกเขาตะนาวศรี ไปยังเมืองทวายและเมืองมะริด เพื่อนั่งเรือกลไฟต่อไปยังภูเก็ต เพื่อสำรวจสายแร่และตรวจงานตามเหมืองดีบุกแห่งต่างๆ เช่นที่ทุ่งคา เมืองภูเก็ต ตลอดเส้นทางผ่านหมู่เกาะเมืองมะริด และแวะท่าจอดเรือของสยามที่เมืองระนองและตะกั่วป่า
“การหลอมดีบุกทั้งหมดจะทำกันเองที่ในทุ่งคา โดยใช้เตาหลอมโลหะขนาดเล็กแบบใช้ลมเป่าที่ทำจากโคลนเนื้อแข็งแกร่ง เป็นเตาชนิดที่คุ้นเคยกันดีตลอดทั้งแหลมแห่งนี้ ดีบุกที่หลอมแล้วจะมีลักษณะเป็นก้อน หนักประมาณ 40 ปอนด์ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช่ส่งออกขาย ส่วนถ่านทั้งหมดที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงนั้นได้มาจากป่าในละแวกใกล้เคียง” (เล่ม 1, หน้า 255)
ต่อมาใน “ห้าปีในสยาม เล่ม 2” เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากเล่ม 1 คือการสำรวจเหมืองแร่ดีบุกและลิกไนต์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในแถบพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อบันทึกรายงานตำแหน่งที่ตั้งเหมือง ปริมาณการสำรวจและขอบเขตงาน รวมถึงลักษณะภูมิอากาศและช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการทำงานในเหมืองแต่ละแห่ง เส้นทางคาบสมุทรมลายูฝั่งตะวันตก จะเดินทางผ่านปากลาว กระบี่ ตรัง พังงา ตะกั่วป่า และระนอง ส่วนในฝั่งตะวันออก จะเดินทางผ่านปราณบุรี เมืองกุย บางสะพาน ปะทิว ชุมพร หลังสวน ไชยา พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช นอกจากเรื่องการทำเหมือง ผู้เขียนได้บันทึกถึงอาชีพอื่นๆ ที่มีความสำคัญสมัยนั้น เช่น การทำประมงจับปลาทูที่ปากน้ำปราณ การเก็บรังนกที่เมืองไชยา
“ชาวสยามจะเก็บรังนกปีละ 3 ครั้งคือ ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เดือนเมษายน-พฤษภาคม และเดือนสิงหาคม ต้องเริ่มดูแลตั้งแต่ที่มันทำรังเสร็จและก่อนที่นกจะวางไข่... การที่รังนกเป็นของมีค่า จึงมักเป็นสิ่งดึงดูดสำคัญที่นักดินเรือที่ผ่านไปมาจอดเรือที่ตรงด้านอับลมของเกาะ เพื่อทำการค้ากำไรกันในตอนเช้า ภายในเวลา 3 ปี ยามของพระยาไชยาจับกุมพวกลักลอบเก็บรังนกได้มากกว่า 200 คน” (เล่ม 2, หน้า 79-80)
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมากในคาบสมุทรมลายู และมีบทบาทสำคัญทั้งที่เป็นเถ้าแก่และคนงานเหมือง ผู้บุกเบิกพื้นที่ทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกพริกไทย และที่สำคัญคือทำธุรกิจการค้าของป่า โดยรับสินค้าจากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นไม้สัก หวาย หนังสัตว์ ฯลฯ
จากคาบสมุทรมลายู ผู้เขียนได้เดินทางไปยังพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ เมืองจันทบูรณ์และตราด ซึ่งในเวลานั้นฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลภายหลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งเมืองจันทบูรณ์และตราดเป็นแหล่งเหมืองเพชรพลอยที่สำคัญ ผู้เขียนได้บันทึกกระบวนการทำเหมืองของที่นี้ไว้อย่างละเอียด และชี้ให้เห็นว่าการเปิดเหมืองเพชรพลอยที่จันทบูรณ์ได้ส่งผลให้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น นอกจากชาวพื้นเมืองและชาวญวนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานเมื่อนานมาแล้วนั้น ยังมีเจ้าของร้านชาวจีน พ่อค้าเพชรพลอยชาวพม่า ชาวฉาน รวมถึงพวกตองสูและกุลาที่เป็นคนงานเหมือง
"ชาวจีนซึ่งอยู่ที่นี่จะนั่งอยู่หน้าร้านค้าของพวกเขา ตองสู (Tongsu) และกุลา (Gula) ชาวเหมืองนักขุดพลอยเดินวางท่าเขื่องโดยสะพายดาบของพวกเขาไว้ที่บนบ่า พ่อค้าเพชรชาวพม่าที่คล้ายคนขี้โอ่ กระแทกส้นรองเท้าเสียงอึกทึกมาตามทางเท้า ส่วนชาวอินเดียเชื้อสายอังกฤษก็กำลังทำสงครามปากใช้คำพูดต่อรองสินค้าต่างๆ พริกไทยจะถูกนำมาตากให้แห้งอยู่บนเสื่อที่วางขวางอยู่ตามถนนหนทาง” (เล่ม 2, หน้า 216)
นอกจากนี้ การปลูกพริกไทย เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจบันทึกไว้ ทั้งในคาบสมุทรมลายูและที่จันทบูรณ์ พบว่ามีการปลูกพริกไทยทั้งแบบเมล็ดขาวและดำกันอย่างแพร่หลาย โดยที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ซึ่งรวมถึงในกระบวนการค้าขายด้วย
จากจันทบูรณ์และตราด คณะของผู้เขียนได้เดินทางต่อไปยังพระตะบองและเสียมเรียบ ตลอดเส้นทางได้ทำการสำรวจแหล่งทำเหมืองอัญมณี ไม่ว่าจะเป็นไพลิน แซฟไฟร์ ทับทิม และเยี่ยมชมหมู่บ้านในเมืองพระตะบอง เสียมเรียบ รวมถึงนครวัด ซึ่งเป็นโบราณสถานที่อยู่ในความสนใจของนักสำรวจในสมัยนั้น ในบทสุดท้ายผู้เขียนได้รวบรวมและเสนอข้อคิดเห็นเรื่องข้อกฎหมายใหม่ในเวลานั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นคนในบังคับที่ดำเนินการโดยกงสุลฝรั่งเศส และความยุ่งยากประการอื่นๆ ของสยาม เช่น เรื่องการปักปันเขตแดนกับฝรั่งเศสที่ลำน้ำโขง ความสัมพันธ์กับอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นต้น ซึ่งก็เป็นช่วงที่ผู้เขียนรับราชการที่กรมกรมเหมืองแร่เป็นปีสุดท้าย คือ พ.ศ. 2439 ก่อนเดินทางกลับไปยังประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้น จากนั้น 2 ปี หนังสือ “ห้าปีในสยาม เล่ม 1-2” ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และถือเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่ใช้อ้างอิงอยู่เสมอ โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องการทำเหมืองแร่และอัญมณีในสยาม