"จักรวรรดิ" แหล่งค้าสมุนไพรใจกลางกรุง
แวดวงเสวนา

"จักรวรรดิ" แหล่งค้าสมุนไพรใจกลางกรุง

 

เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับวารสารเมืองโบราณ จัดกิจกรรมพิพิธเสวนาในหัวข้อเรื่อง “จักรวรรดิ แหล่งค้าสมุนไพรใจกลางกรุง” ณ ห้องประชุมโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของย่านจักรวรรดิ ซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ และแหล่งค้าส่งสมุนไพรหลากหลายชนิดมาจนถึงปัจจุบัน วิทยากรโดย คุณถวัลย์ สุวรรณเตมีย์ ทายาทรุ่นที่ 4 ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ และคุณสมชัย กวางทองพานิชย์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านเยาวราช

 

บรรยากาศในงานเสวนา 

 

คุณสมชัยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของ คลองวัดสามปลื้ม หรือ คลองวัดจักรวรรดิ  ในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2439 จะเห็นว่าคลองวัดสามปลื้มเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองมหานาคที่ภูเขาทอง แต่เดิมจากวัดลงไปถึงท่าน้ำวัดจักรวรรดิมีสะพานยาว เป็นสะพานไม้ที่ทำเป็นทางเดินเพราะสภาพพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยเป็นชื่อ ตรอกสะพานยาว ในอดีตท่าน้ำวัดจักรวรรดิมีความสำคัญมาก เรือบรรทุกสินค้าจากปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ หรือจากจังหวัดเพชรบุรีจะมาจอดเทียบท่ารับส่งสินค้ากันที่นี่ ดังนั้น บริเวณโดยรอบวัดจักรวรรดิจึงเป็นที่ตั้งของบริษัทขนส่งสินค้าหลายแห่ง ต่อมามีการถมคลองวัดสามปลื้มเพื่อทำถนนชื่อว่า ถนนมหาจักร หรือที่เรียกกันติดปากว่า คลองถม

 

คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ (ซ้าย) คุณถวัลย์ สุวรรณเตมีย์ (กลาง) และคุณณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง ผู้ดำเนินรายการ

 

ด้านคุณถวัลย์ได้เล่าถึงความเป็นมาของร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ ซึ่งสืบย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ก่อตั้งร้านคือคุณทวดของคุณถวัลย์ชื่อ นายเป๋อ สุวรรณเตมีย์ หรือที่รู้จักกันว่า เจ้ากรมเป๋อ  ซึ่งคำว่า “เจ้ากรม” ในที่นี้เป็นตำแหน่งที่ทางวัดแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของวัด หากเทียบกับปัจจุบันก็คือตำแหน่งมัคนายก  เจ้ากรมเป๋อจึงได้รับใช้ใกล้ชิดท่านเจ้ามา (พระพุฒาจารย์มา) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรื่องยาสมุนไพรและการดูดวงชะตา ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเรื่องยาสมุนไพรด้วย เมื่อท่านเจ้ามาเห็นว่าเจ้ากรมเป๋อสามารถรักษาโรคด้วยสมุนไพรได้แล้ว จึงให้เช่าที่วัดตั้งเป็นร้านขายยาชื่อว่า “ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ” เริ่มเปิดกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2439 นอกจากนี้ยังมีร้านสุวรรณเตมีย์ ตั้งอยู่เยื้องกับวัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) ในคลองบางกอกน้อย ดำเนินกิจการโดยคุณปู่ของคุณถวัลย์ ก่อนจะเลิกกิจการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ผู้เข้าร่วมเสวนาเยี่ยมชมร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ

 

ปัจจุุบันร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อมีอายุ 123 ปี ดำเนินกิจการโดยทายาทรุ่นเหลนของเจ้ากรมเป๋อ ซึ่งคุณถวัลย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น “เจ้ากรมเป๋อมีเหลน 40 กว่าคน หลานคนสุดท้ายของท่านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) ชื่อศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงสลาด ทัพวงศ์ อายุ 97 ปี ท่านเป็นแทพย์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช… ตัวผมจบวิศวกรรมเครื่องยนต์จากเยอรมัน แต่มารับช่วงสืบทอดกิจการร้านนี้เมื่อ 32 ปีก่อน ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะเสีย”

 

บรรยากาศภายในร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ 

 

ตำรับยาที่มีชื่อเสียงของร้านเจ้ากรมเป๋อ ได้แก่ ยาลม ยาเกี่ยวกับโรคสตรี รักษาอาการวัยทอง ไข้ทับระดู และ ยามหาโยธา สำหรับรักษาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน พบว่าการค้าขายสมุนไพรมีความเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน มีสมุนไพรหลายชนิดที่หายากและมีราคาแพงมากขึ้น บางชนิดเป็นของป่าที่สูญหายไปแล้วในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่เสื่อมถอยลง คุณถวัลย์เล่าว่าสมัยก่อนการซื้อขายยาสมุนไพรจะมีเจ้าประจำมาส่งให้ที่ร้าน เป็นคนเก่าแก่ดั้งเดิมที่ส่งมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย สมุนไพรส่วนใหญ่เป็นของป่าที่จัดหามาส่งให้โดยตรง ซึ่งตัวยาที่ใช้มีหลายร้อยชนิด มีทั้งพืช กระดูกสัตว์ชนิดต่างๆ และแร่ธาตุ แต่ปัจจุบันตัวยาหลายชนิดเป็นของหวงห้ามโดยเฉพาะพวกสัตว์ป่าชนิดต่างๆ  

 

“ในช่วงระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ตอนที่ผมมารับช่วงกิจการใหม่ๆ เขายังมาส่งสมุนไพรเป็นคันรถ สมัยนั้นราคาถูกมาก ราคายาหม้อละ 5-10 บาท แต่ในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ราคายาสมุนไพรเริ่มขึ้นราคา สำหรับเราค่อนข้างใจหาย แต่คนภายนอกอาจจะไม่รู้สึกว่าแตกต่างมาก… ปัจจุบันการหาสมุนไพรต่างๆ จะอาศัยการผูกสัมพันธ์กับร้านขายยาอื่นๆ เป็นเครือข่าย เราขาดอะไรก็ไปถามเขา ถ้าเขามีเขาก็เอามาให้ ถ้าเขาขาดอะไรก็มาถามเรา เดี๋ยวนี้เราต้องใช้วิธีนี้ เพราะสมุนไพรหายากขึ้นเรื่อยๆ และบางอย่างหายไปจริงๆ

“ปัจจุบันแหล่งขายสมุนไพรจะไปรวมที่นนทบุรี ก่อนจะมีรถปิคอัพมาส่งที่ย่านจักรวรรดิ ซึ่งการคัดเลือกคุณภาพไม่ยากเพราะเราชำนาญแล้ว ขอเพียงแค่ว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมปะปนมาเพื่อเพิ่มน้ำหนัก สมุนไพรส่วนใหญ่จะเป็นของที่มีเกษตรกรปลูกแล้วนำมาส่งขาย เช่น ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน โดยจะปลูกมากในแถบจันทบุรี ราชบุรี สระบุรี กาญจนบุรี” คุณถวัลย์กล่าว

 

คุณถวัลย์ สุวรรณเตมีย์ นำชมภายในร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ 

 

ในช่วงท้ายคุณสุดารา สุจฉายา หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องกิจการค้าของป่าของชาวจีนในฝั่งธนบุรี โดยเป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์คุณชุณห์ คชพัชรินทร์ อดีตเจ้าของกิจการค้าของป่าและหนังสัตว์ในย่านคลองสาน คุณสุดราราเล่าว่า ในอดีตกิจการค้าของป่าในฝั่งธนบุรีมีเป็น 10 เจ้า โดยระบบการค้าขายของป่าในสมัยนั้น เจ้าของกิจการจะต้องติดต่อกับเครือข่ายที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ผ่านทางจดหมาย เพื่อแจ้งว่าต้องการสินค้าชนิดใดบ้างและราคาตลาดอยู่ที่เท่าไหร่ จากนั้นจึงทำการนัดหมายส่งสินค้า ซึ่งจะมีมาทั้งทางเรือและรถไฟ

 

สินค้าที่มาทางเรือจะมาเทียบท่าที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรือสินค้าแต่ละลำจะบรรทุกของป่าหลายชนิดปะปนกันมา ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร หนังโคกระบือ การซื้อขายจะต้องซื้อเหมาทั้งลำเรือ เมื่อตกลงราคากันเรียบร้อยแล้ว เรือจะไปเทียบท่าที่โกดังสินค้าซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นจึงค่อยแยกประเภทสินค้าแล้วนำไปจำหน่ายต่อไป ส่วนสินค้าจากภาคอีสานจะบรรทุกมากับรถไฟ ซึ่งจะต้องไปรอรับตามวัน-เวลาที่นัดหมาย

 

"ร้านยาไท้อันจั่น" หนึ่งในร้านขายสมุนไพรเก่าแก่ในย่านจักรวรรดิ

 

ภายหลังการเสวนาเสร็จสิ้น คุณสมชัย คุณถวัลย์ ร่วมด้วยคุณศักดา เสถียรนภาพ ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ในย่านจักรวรรดิ นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทัศนศึกษาในย่านจักรวรรดิ เริ่มต้นที่ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ ก่อนข้ามถนนไปดูร้านยาไท้อันจั่น ซึ่งเป็นร้านขายยาเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง จากนั้นเดินเข้าตรอกหัวเม็ด ลัดเลาะตามซอกซอยไปยังตรอกยาฉุน ก่อนจะปิดกิจกรรมที่สะพานหัน ซึ่งปัจจุบันมีการปรับภูมิทัศน์ริมคลองให้สวยงามน่าเที่ยวชม

 

ผู้เข้าร่วมเสวนาถ่ายภาพร่วมกัน 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ