ย้อนเวลาเที่ยวงาน "เทศกาลลางสาดหวาน อุตรดิตถ์"
ข้างหลังภาพ

ย้อนเวลาเที่ยวงาน "เทศกาลลางสาดหวาน อุตรดิตถ์"

 

“เมืองลางสาดหวาน” เป็นวรรคหนึ่งในคำขวัญจังหวัดอุตรดิตถ์ บ่งบอกให้รู้ว่าครั้งหนึ่งพื้นที่สวนในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะที่อำเภอลับแล เป็นแหล่งปลูกลางสาดที่ใหญ่และดีที่สุดในเขตภาคเหนือตอนล่าง

 

ลางสาดจะเริ่มแทงช่อดอกราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และเริ่มออกผลในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พร้อมให้เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ในช่วงเดือนกันยายนจะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด เพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว จังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดและหน่วยงานภาคการเกษตรของพื้นที่ ได้ริเริ่มจัดงาน “เทศกาลลางสาดหวาน” ขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกันยายน ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา ภายในงานมีการประกวดลางสาดพันธุ์ดี การออกร้านจำหน่ายลางสาด และที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ ขบวนแห่รถและธิดาลางสาดหวาน ขบวนแห่นี้จะผ่านย่านตลาดกลางเมือง ก่อนจะไปสิ้นสุดที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน

 

คอลัมน์ “ข้างหลังภาพ” ได้คัดเลือกภาพในงานเทศกาลลางสาดหวาน จังหวัดอุตรดิตถ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2531-2532 มานำเสนอ เอื้อเฟื้อภาพถ่ายจากคุณสมศักดิ์ ชูประเสริฐกุล จากภาพจะเห็นว่านอกจากความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลในสวนผลไม้แล้ว การจัดตกแต่งขบวนรถยังสะท้อนถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นเมืองอุตรดิตถ์ เช่น สถานที่สำคัญ ตำนานท้องถิ่น งานหัตถกรรม เป็นต้น

 

 

รถแห่ของสำนักการประถมศึกษา อุตรดิตถ์ ทำเป็นรูป "เจ้าเงาะ" ตามตำนานเวียงเจ้าเงาะที่ตำบลทุ่งยั้ง 

 

ความโดดเด่นของลางสาดอยู่ที่รสชาติเปรี้ยวอมหวานและกลิ่นหอมสดชื่น  คนในท้องถิ่นจึงนิยมรับประทานลางสาดกันมากกว่าลองกอง ซึ่งเป็นไม้ในตระกูลเดียวกัน อย่างไรก็ดี ลางสาดมีข้อเสียอยู่ที่ผลผลิตเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน หลังจากเก็บลงมาจากต้นทิ้งไว้แค่ 2-3วัน ผิวจะเริ่มดำและหลุดร่วงออกจากขั้ว ด้วยเหตุนี้ ต่อมาชาวสวนจึงเริ่มเอากิ่งพันธุ์ลองกองเข้ามาปลูกแทนที่ เพราะเป็นที่นิยมในท้องตลาดมากกว่า ขนาดพวงใหญ่ มีเปลือกหนาเก็บรักษาได้นาน สามารถขนส่งไปยังที่ห่างไกลได้โดยไม่เสียหาย โดยชาวสวนจะนำกิ่งลองกองมาเสียบเข้ากับต้นลางสาดพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่เดิม จึงทำให้ต้นลางสาดพันธุ์พื้นเมืองลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือพื้นที่ปลูกน้อยมาก

 

 

 "ต้นลางสาดจำลอง" เป็นรูปแบบหนึ่งที่นิยมทำกันในขบวนแห่ 

 

ใน “โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตลางสาดอย่างมีคุณภาพ” โดย ยุพา สุดวิเชียร และคณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งรายงานชุดโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่อย่างมีคุณภาพในเขตภาคเหนือตอนล่างของกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้ทำการสำรวจจำนวนต้นลางสาดพันธุ์ในพื้นที่อุตรดิตถ์และสุโขทัย ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555-2557 พบว่าในอุตรดิตถ์มีพื้นที่ปลูกอยู่ที่ตำบลฝายหลวง แม่พูล นานกกก ในอำเภอลับแล ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา ตำบลน้ำริดและบ้านด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ส่วนที่สุโขทัยมีอยู่ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ติดต่อกับอำเภอลับแล

 

ลางสาดนับร้อยลูกถูกนำมาประดับบนพระวิหารหลวง วัดพระแท่นศิลาอาสน์ จำลอง 

 

รถแห่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จำลองเป็นวิหารหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน

 

"ไม้กวาดตองกง " หนึ่งในงานหัตถกรรมขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ถูกนำมาเสนอในขบวนแห่ด้วยเช่นกัน

 

ปัจจุบันงานเทศกาลนี้ยังจัดอยู่เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกันยายน แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “งานเทศกาลลางสาด ลองกองหวาน และสินค้า OTOP อุตรดิตถ์” ด้วยเพราะมีจำนวนผลผลิตลองกองเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง  

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ