ลัดล่อง ท่องตลาด ริมสายน้ำสุพรรณบุรี

ลัดล่อง ท่องตลาด ริมสายน้ำสุพรรณบุรี

 

จากการออกเดินทางสำรวจตลาดริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ทำให้เราได้เห็นสภาพปัจจุบันของตลาดริมน้ำหลายๆ แห่ง ซึ่งมีทั้งตลาดที่ยังคึกคัก มีชีวิตชีวา และตลาดที่เงียบเหงาซบเซา ในขณะที่ตลาดอีกหลายแห่งก็เหลือเพียงชื่อและความทรงจำอันลางเลือนในหมู่คนรุ่นเก่าเท่านั้น

 

คนเฒ่าคนแก่ในเมืองสุพรรณหลายท่าน ร่วมเล่าย้อนอดีตถึงตลาดที่เคยตั้งอยู่สองฟากฝั่งลำน้ำเมืองสุพรรณ ปะติดปะต่อจนเป็นภาพได้ว่า หากตั้งต้นจากแม่น้ำสุพรรณบุรีต่อคลองสองพี่น้อง จะพบ ตลาดบางสาม พอแยกเข้าคลองสองพี่น้อง จะพบ ตลาดบางลี่ ถัดขึ้นมาตามแม่น้ำสุพรรณบุรี จะพบ ตลาดบางแม่หม้าย แต่หากตั้งต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านแม่น้ำน้อย ลัดเลาะมาตามคลองเจ้าเจ็ด จะพบ ตลาดบ้านสุด ตลาดขนาดใหญ่ริมคลองบางยี่หน

 

ตลาดบ้านสุด อำเภอบางปลาม้า ขณะที่มีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวฝั่งแม่น้ำ

 

โรงเลื่อยเฮ่งมุ่ยฮวด หนึ่งในโรงเลื่อยเก่าแก่แห่งบ้านคอวัง ที่ยังเปิดดำเนินการถึงปัจจุบัน

 

ถัดจากตลาดบ้านสุด ผ่านประตูน้ำบางยี่หน เข้าสู่แม่น้ำสุพรรณบุรี จะพบ ตลาดคอวัง  แหล่งรวมอู่ต่อเรือและโรงเลื่อยแห่งใหญ่ของเมืองสุพรรณ ถัดขึ้นไปทางทิศเหนือ มี ตลาดบางปลาม้า ตลาดเก้าห้อง และ ตลาดสุพรรณ หรือ ตลาดท่าพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จากนั้นต้องข้ามประตูน้ำโพธิ์พระยาซึ่งมี ตลาดโพธิ์พระยา อยู่ฟากตะวันออก และ ตลาดแดง อยู่ฝั่งตรงข้าม ถัดขึ้นไปอีกเป็น ตลาดโรงก๋วยเตี๋ยว เป็นตลาดเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้โรงสี ห่างออกไปไม่ไกลมี ตลาดศรีประจันต์ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เกิดจากตลาดเล็กๆ หลายแห่งรวมกัน และตรงข้ามตลาดศรีประจันต์เป็นที่ตั้งของ ตลาดบ้านกร่าง

 

ตลาดริมน้ำเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2478

 

ตลาดศรีประจันต์ เดิมเป็นตลาดขนาดใหญ่ประจำอำเภอศรีประจันต์

 

ล่องขึ้นไปตามแม่น้ำสุพรรณบุรีจะพบตลาดขนาดเล็กอีกหลายแห่ง เช่น ตลาดบ้านกล้วย ตลาดวังหว้า ตลาดวังหิน และ ตลาดบางขวาก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานน้ำตาลริมแม่น้ำสุพรรณบุรีต่อปากคลองวังลึก ซึ่งเป็นคลองที่สามารถลัดเลาะไปถึงจังหวัดชัยนาทได้ และเลยขึ้นไปตามแม่น้ำสุพรรณบุรีจะถึง ตลาดสามชุก ตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองสุพรรณในสมัยนั้น

 

ร้านค้าในตลาดศรีประจันต์  

 

อาคารเรือนแถวไม้ที่ตลาดบ้างกร่าง ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นบ้านพักอาศัย

 

จากนั้น จะต้องล่องเรือผ่านประตูน้ำชลมารคพิจารณ์ หรือประตูน้ำบ้านทึง จะพบ ตลาดบ้านทึง เป็นตลาดขนาดเล็ก เดิมมีเรือนแถวไม้ ๒ แถว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ล่องเรือต่อไปทางเหนืออีกราว ๑ ชั่วโมง จะถึง ตลาดนางบวช ถัดขึ้นไปอีกกว่าชั่วโมงจะพบ ตลาดท่าช้าง ชุมทางการค้าสำคัญระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรีกับบ้านเมืองตอนบนเพราะเป็นตลาดสุดท้ายทางทิศเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีก่อนเข้าเขตจังหวัดชัยนาท  

 

สภาพปัจจุบันของตลาดบางขวาก อำเภอสามชุก

 

ส่วนตลาดที่อยู่เหนือตลาดท่าช้างขึ้นไปในเขตจังหวัดชัยนาทก็คือ ตลาดหันคา ทั้งนี้หากลัดเลาะตามแม่น้ำสายนี้ ผ่านประตูน้ำอีกหลายแห่งขึ้นไป จะบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองมะขามเฒ่า สามารถเชื่อมต่อไปถึงจังหวัดนครสวรรค์และบ้านเมืองที่อยู่ทางเหนือได้

 

ตลาดสามชุกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน

 

เรือแจวข้ามฝากที่ตลาดท่าช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช

 

ตลาดที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีจึงเป็นแหล่งรองรับสินค้า และเป็นแหล่งกระจายสินค้าให้กับพ่อค้ารายย่อย และชาวบ้านที่เดินทางเข้ามาจับจ่ายซื้อหาสินค้าในตลาด สินค้าที่ขายในตลาด มาจากหลายที่ ทั้งพืชผลทางการเกษตรในท้องถิ่น บ้างมาจากบ้านเมืองตอนบน หรือขึ้นมาจากแถบจังหวัดนครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี รวมถึงมาจากแหล่งสินค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ เช่น ท่าเตียน จักรวรรดิ สำเพ็ง และพาหุรัด เป็นต้น สำหรับพาหนะสำคัญที่พ่อค้าคนกลางใช้ในการลำเลียงสินค้ามาส่งยังตลาดริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ก็คือ เรือส่งสินค้า หรือ ซงฮ่วยจุ๊น นั่นเอง


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ