“ไทยวัฒนา” ร้านสรรพสินค้าแห่งเมืองตะกั่วป่า

“ไทยวัฒนา” ร้านสรรพสินค้าแห่งเมืองตะกั่วป่า

 

ย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในอดีตเคยเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรือง เนื่องมาจากการขยายตัวของกิจการเหมืองแร่ดีบุก ก่อนจะเริ่มซบเซาลงเมื่อราว พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ห้างร้านต่างๆ ที่เคยเปิดกิจการกันอย่างคึกคัก ค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง คงเหลือเพียงเสี้ยวความทรงจำและคำเล่าขาน

 

“ร้านไทยวัฒนา” ที่ในอดีตเคยเป็นร้านจำหน่ายเครื่องเขียน หนังสือแบบเรียน และตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในเมืองตะกั่วป่า ก็เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานที่แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจในวันวานของย่านเมืองเก่าแห่งนี้ ร้านไทยวัฒนาเป็นอาคารตึกแถว 2 คูหา เลขที่ 203-205 ตั้งอยู่บนถนนศรีตะกั่วป่า(ใน) ถนนสายสั้นๆ ที่เชื่อมต่อจากถนนอุดมธาราไปจนถึงสะพานข้ามคลองปิ ในอดีตถนนสายนี้ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองตะกั่วป่า ด้วยเป็นที่ตั้งของ บริษัทซื้อขายแร่  ร้านค้า ธนาคาร โรงภาพยนตร์ โรงรำวง ตลอดจนสมาคมจีนและศาลเจ้าของชาวจีนกลุ่มต่างๆ

 

อาคารสมาคมจีนฮกเกี้ยน หนึ่งในสมาคมจีนที่ตั้งอยู่บนถนนศรีตะกั่วป่า 

 

บรรยากาศถนนศรีตะกั่วป่าในปัจจุบันค่อนข้างจะเงียบเหงา (ภาพถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2561)

 

อาคารตึกแถวที่ตั้งเรียงรายอยู่สองฝั่งถนนศรีตะกั่วป่า ส่วนใหญ่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาคารตึกแถวแบบจีนกับอาคารแบบอาณานิคมตะวันตก สะท้อนรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจากปีนัง ปัจจุบันแม้บรรยากาศภายในถนนศรีตะกั่วป่าจะค่อนข้างเงียบเหงา แต่ยังมีร้านค้าที่เปิดบริการเพื่อรองรับคนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ร้านตัดผม ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านซ่อมเครื่องยนต์ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง

 

ภาพถ่ายเก่าร้านไทยวัฒนาราวปี 2520 จากภาพจะเห็นป้าย "จำหน่ายวิทยุ" และป้ายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ "PHILIPS" ติดอยู่หน้าร้าน

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ปัจจุบันร้านไทยวัฒนาไม่ได้เปิดกิจการอีกแล้ว ตึกแถว 2 คูหา หลังหนึ่งเปิดให้เช่า ปัจจุบันเป็นร้านจำหน่ายผ้าบาติก เครื่องประดับ และของที่ระลึก ซึ่งจะเปิดขายในช่วงมีงาน “ถนนสายวัฒนธรรมเมืองตะกั่วป่า” ที่จัดขึ้นทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมของทุกปี ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบริเวณหน้าร้านยังมีตู้โชว์สินค้า ภายในจัดวางข้าวของต่างๆ ของร้านไว้เป็นอนุสรณ์ เรามีโอกาสได้นั่งคุยกับ คุณรักชาติ บุญญานุวัตร ผู้สืบทอดกิจการร้านไทยวัฒนารุ่นสุดท้าย ก่อนปิดตัวลงเมื่อราวปี พ.ศ. 2542

 

คุณรักชาติ บุญญานุวัตร ผู้สืบทอดกิจการร้านไทยวัฒนารุ่นสุดท้าย

 

คุณรักชาติเล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้เป็นของ แปะก๊กอุ๋ย หรือ นายธานินทร์ วิสุทธิไมตรี ผู้ก่อตั้งร้านไทยวัฒนาและเป็นพ่อตาของคุณรักชาติ แปะก๊กอุ๋ยเป็นครูประจำโรงเรียนเสนานุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดตะกั่วป่าในอดีต เดิมทีแปะก๊กอุ๋ยมีบ้านอยู่ที่ถนนอุดมธารา เป็นตึกแถวแบบจีนรุ่นเก่า ก่อนจะมาซื้ออาคารตึกแถวหลังนี้ที่ถนนศรีตะกั่วป่าเพื่อเปิดเป็นร้านค้าขาย

 

ประวัติของตึกแถว 2 คูหาแห่งนี้มีความเก่าแก่พอควร มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรสลักไว้ที่คานบ้านว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2484 เดิมมี 2 เจ้าของ ร้านหนึ่งเป็นของแขกซิกข์ เปิดขายสินค้านำเข้านานาชนิด ส่วนอีกร้านหนึ่งเปิดขายยาสมุนไพรจีนชื่อร้าน “ฮั่วเซ่งจั่น”

 

ใบเสร็จของร้านไทยวัฒนาสมัยก่อน บอกรายละเอียดที่ตั้งร้านและรายการสินค้าต่างๆ ที่มีจำหน่าย

 

ร้านไทยวัฒนาในยุคแรกจำหน่ายเพียงเครื่องเขียน แบบเรียนของคุรุสภา หนังสือพิมพ์ และสินค้าเบ็ดเตล็ด หากเป็นสมัยก่อนพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมาซื้อหาแบบเรียนและเครื่องเขียนให้ลูกๆ ที่ร้านแห่งนี้ เช่นเดียวกับครุภัณฑ์และอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ที่ส่งไปยังโรงเรียนและสถานที่ราชการที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนใหญ่ก็มาจากร้านไทยวัฒนาแทบทั้งนั้น  

 

“เริ่มแรกขายเครื่องเขียนและแบบเรียนก่อน เพราะท่าน(แปะก๊กอุ๋ย) เป็นครู ต่อมาเริ่มขายสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะลูกค้าถามหา จึงค่อยๆ สั่งเข้ามาไว้ที่ร้าน ร้านไทยวัฒนาถือเป็นร้านใหญ่ในสมัยก่อน หากต้องการหนังสือแบบเรียนต้องมาซื้อที่นี่

 

“เมื่อก่อนไม่มีธนาคาร หากต้องไปติดต่อเป็นเอเยนต์จำหน่ายสินค้าต่างๆ ที่กรุงเทพฯ จะต้องพกเงินสดไป ท่านไปติดต่อเป็นเอเยนต์ขายหนังสือพิมพ์ ทั้งไทยรัฐ เดลินิวส์ รวมถึงหนังสือหลายสำนักพิมพ์ เหมือนอย่างร้านเส้งโห ภูเก็ต ที่เป็นร้านขายส่งหนังสือ ท่านกับเจ้าของร้านเส้งโหก็เป็นเพื่อนกัน ร้านเส้งโหจะส่งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ให้เราครั้งละ 5 เล่ม โดยมากับรถประจำทาง เพราะเมื่อก่อนที่ตะกั่วป่ามีพวกฝรั่งอยู่เยอะ

 

“สมัยก่อนสินค้าพวกเครื่องเขียน แบบเรียน และอุปกรณ์สำนักงาน เราจัดส่งไปยังอำเภอใกล้เคียง ทั้งที่อำเภอกะปง อำเภอคุระบุรี ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน เทศบาล สถานีอนามัย โรงพยาบาล และหน่วยงานราชการอื่นๆ สินค้าที่จัดส่งไปโดยมากคือ กระดาษโรเนียวและเครื่องเขียน”

 

ป้ายชื่อเก่าแก่ของร้านนำมาจัดแสดงอยู่ในมุมรับแขกที่บริเวณหน้าร้านในปัจจุบัน 

 

ต่อมาได้ขยับขยายเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ของของบริษัทฟิลิปส์ (PHILIPS) ซึ่งร้านไทยวัฒนาถือเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อฟิลิปส์เพียงเจ้าเดียวในย่านตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่าในขณะนั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร้านนำมาจำหน่าย เช่น หลอดไฟ เตาแก๊ส ตู้เย็น วิทยุ สมัยก่อนมีเสาสัญญาณวิทยุติดตั้งไว้ที่ร้านอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแห อวน  เครื่องบวช เครื่องสังฆภัณฑ์ ด้าย เข็มเย็บผ้ายี่ห้อซิงเกอร์ เครื่องสำอางยี่ห้อไนติงเกล เป็นต้น

 

เครื่องเขียนประเภทต่างๆ ที่เคยมีจำหน่ายในร้าน 

 

อย่างไรก็ดีเมื่อวันคืนหมุนผ่าน ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยย่อมมาเยือนทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่ที่ย่านตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า จากที่เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ค่อยๆ ซบเซาลงพร้อมกับกิจการเหมืองแร่ที่ทยอยปิดตัวลง เม็ดเงินที่เคยหมุนเวียนในย่านการค้าแห่งนี้และคนงานจากเหมืองแร่นับร้อยแห่งที่เคยพลุกพล่านก็ค่อยๆ หายไป อีกทั้งการคมนาคมที่สะดวกขึ้น ส่งผลให้บริเวณตลาดย่านยาวที่มีถนนเพชรเกษมตัดผ่าน ค่อยๆ เจริญเติบโตมากขึ้น บรรดาธนาคารและห้างร้านต่างๆ จึงโยกย้ายตามกันไป

 

ตู้กระจกเก่าแก่ของร้าน ในอดีตใช้สำหรับวางโชว์สินค้าต่างๆ 

 

ร้านไทยวัฒนาก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่ากิจการเหมืองจะเริ่มซบเซาลงในช่วงทศวรรษที่ 2520 แต่ร้านไทยวัฒนายังคงเปิดขายเรื่อยมาจนถึงพ.ศ. 2542 กระทั่งเห็นว่าผลกำไรที่ได้เริ่มไม่คุ้มทุน อีกทั้งการแข่งขันทางธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในท้องถิ่นเล็กๆ อีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจเลิกกิจการ

“สมัยก่อนเราเคยได้กำไรจากการขายตู้เย็น ตู้ละ 1,500 บาท แต่ภายหลังได้ตู้ละ 200-300 บาทเท่านั้น และถ้าหากลูกค้านำไปใช้งานแล้วเกิดเสียขึ้นมา เราต้องจัดหาช่างไว้บริการซึ่งมันไม่คุ้ม อีกทั้งมีการแข่งขันมากขึ้น บริษัทที่กรุงเทพฯ ก็บีบให้เราต้องขายให้ได้เท่านั้นเท่านี้ เราก็สู้ไม่ไหว”

 

ตำราเรียนเก่าและสินค้าประเภทต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงไว้ภายในร้านไทยวัฒนาเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความเป็นมาของร้าน

 

ส่วนพวกตำราเรียนเก่าๆ ที่เหลืออยู่ในร้าน กลายเป็นของล้าสมัยเพราะมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา ทางร้านจึงแจกจ่ายไปตามโรงเรียนต่างๆ ให้เก็บไว้เป็นสื่อการเรียนการสอนและเป็นที่ระลึก นอกจากนี้พวกสินค้ารุ่นเก่าๆ ที่ไม่โดนน้ำท่วมเสียหาย ได้มอบให้วัดปากเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เก็บไว้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของวัด ส่วนหนึ่งก็นำมาจัดแสดงไว้ที่บริเวณหน้าร้านไทยวัฒนาเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความเป็นมาของร้านและย่านเมืองเก่าแห่งนี้

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ