ย้อนกลับไปราว 50 ปีก่อน ในท้องทุ่งนาและใต้ถุนบ้านในชนบทเกือบทุกภูมิภาคยังมีเกวียนจอดอยู่ให้เห็นจนชินตา แต่ปัจจุบันจะหาดูเกวียนรูปแบบต่างๆ คงต้องเข้าไปชมในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นทั่วไป หรือตามร้านอาหารที่นิยมนำล้อเกวียนดัดแปลงเป็นรั้วหรือพนักเก้าอี้ให้ลูกค้านั่ง
(ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว หลังจากที่ชาวนา “ตี” ข้าวแยกเมล็ดออกจากต้นข้าว และ “วี” ข้าวเพื่อเอาเมล็ดลีบที่ไม่สมบูรณ์หรือเศษฟางออกจากเมล็ดข้าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเตรียมเกวียนหรือบางท้องถิ่นเรียกว่า “ล้อ” มาบรรทุกข้าวกลับไปเก็บในยุ้งข้าวที่บ้านของตน เวลานี้เองที่เราจะเห็นความเป็นศิลปินของชาวนาผู้เป็นเจ้าของเกวียนหรือคนทำเกวียน ที่แสดงฝีมือเชิงช่างฝากไว้บนตัวเกวียน โดยเกวียนบางเล่มแกะสลักเป็นลวดลายอ่อนช้อยงดงาม พร้อมเติมแต่งสีสันและถ้อยคำสนุกๆ ที่สรรหามาเขียนไว้บนเรือนเกวียน (บางถิ่นเรียก “บองเกวียน” หรือ “ฮางรอง”)อย่าง “นักทำล้อรอรัก” “บ้านนาสวรรค์” เป็นต้น แม้แต่ตามส่วนประกอบอื่นๆ ของเกวียนเช่น ก้องเพลา แอก คั่นยัน ไม้หัวเต่า คาน หรือกระทั่งดุมเกวียนก็ตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมออกจัดแสดงบนลานท้องนาอันกว้างใหญ่
(ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
เกวียนนอกจากจะเป็นพื้นที่ถ่ายทอดศิลปะของชาวนาแล้ว ยังมีลักษณะการใช้งานในแต่ละพื้นที่ หรือนำมาเทียมสัตว์ต่างชนิดแตกต่างกันไปด้วย เกวียนส่วนใหญ่ที่ใช้ในเมืองไทยทั่วทุกภูมิภาคมีอยู่ 2 ประเภทคือ เกวียนวัวกับเกวียนควาย เกวียนทั้ง 2 ชนิดนี้มีข้อแตกต่างอย่างชัดเจน เกวียนวัวมีขนาดเล็ก เพราะวัวตัวเล็กกว่าควายและมีแรงน้อยกว่าแต่มีความคล่องตัวกว่า จึงเหมาะกับการใช้งานบนที่ดอนหรือที่สูงในเขตป่าดง มีหล่มโคลนน้อยส่วนเกวียนควายนั้นมีขนาดใหญ่กว่าเกวียนวัว เพราะควายมีกำลังในการใช้งานมากกว่า ทั้งยังสามารถบรรทุกสัมภาระได้มากกว่าเกวียนวัวด้วย พื้นที่ใช้งานส่วนใหญ่จึงอยู่ในที่ราบลุ่ม มีหล่มโคลนมาก ทำให้ต้องมีวงล้อที่ใหญ่กว่า
(ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
บ้านชาวนาบางท้องถิ่นอาจมีทั้งเกวียนวัวและเกวียนควาย เพื่อไว้ใช้ในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่นเป็นพาหนะเดินทางบรรทุกคนหรือข้าวของที่ไม่หนักมากนัก นิยมใช้เกวียนวัว ส่วนเกวียนควายนั้นใช้บรรทุกของหนักจำพวกข้าว ไม้ฟืน หรือบางครั้งก็เป็นอิฐ หิน เสียด้วยซ้ำ