“รุ่นเป็นหนุ่ม เมื่อ 40 กว่าปีก่อน กระดาษสาทำใช้ในท้องถิ่น เล็กๆ น้อยๆ คนใช้น้อย การทำร่มก็เริ่มเปลี่ยนไปหุ้มด้วยวัสดุอื่นๆ เหลือคนทำกระดาษสาที่ต้นเปาไม่ถึง 10 ราย เพราะว่าทำแล้วไม่รู้จะขายให้ใคร”
พ่อหลวงแก้ว หรือคุณวิจิตร ญี่นาง เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของการผลิตกระดาษสาที่บ้านต้นเปา เมื่อราวปี 2520 กว่าๆ ซึ่งเป็นความจริงว่าชาวบ้านอาจเลิกทำกระดาษสา หากไม่มีช่องทางตลาดใหม่มารองรับ โชคดีที่ในช่วงเวลาดังกล่าวที่การผลิตกระดาษสาอยู่ในความสนใจของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ด้วยเพราะเป็นสินค้าส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่ควรได้รับการสนับสนุน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตกระดาษสาที่บ้านต้นเปาเป็นครั้งแรก
การพัฒนากระบวนการผลิตกระดาษสาเกิดขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกโดยหน่วยงานจากส่วนกลาง เมื่อ พ.ศ. 2521 นำโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) ร่วมกับสถาบันวิจัยแห่งชาติชิโกกุ ประเทศญี่ปุ่น ผ่านโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การใช้ประโยชน์เส้นใยพืชและไม้ท้องถิ่นเพื่อการผลิตเยื่อและกระดาษ” สาเหตุสำคัญที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจการผลิตกระดาษสาในประเทศไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญที่รับซื้อเปลือกสาและกระดาษสาของไทย นำมาสู่ความต้องการพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้า ในเวลานั้นจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายส่งออกเปลือกสาไปยังญี่ปุ่นมากถึงปีละ 40-50 ตัน ซึ่งเป็นต้นสาที่หาได้จากธรรมชาติ [1] ในช่วงทศวรรษที่ 2520 และ 2530 เป็นต้นมา จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ วท. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยพืชไร่ เป็นต้น ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหมดนี้เป็นการขับเคลื่อนนโยบายจากส่วนกลาง ก่อนถ่ายทอดลงสู่ท้องถิ่นที่ทำการผลิตกระดาษสามาแต่ดั้งเดิม ซึ่งรวมถึงบ้านบ่อสร้างและบ้านต้นเปาในท้องที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
หมู่บ้านต้นเปาเป็นหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับเลือกในโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village)
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของกระดาษสาในไทย ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตโดยการนำเครื่องจักรและสารเคมีมาใช้ เครื่องตีเยื่อสาหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เครื่องโม่, เครื่องปั่น ถูกนำมาใช้ทดแทนการใช้ค้อนไม้ทุบเยื่อสาเริ่มแพร่หลายเมื่อปี 2528 เป็นต้นมา โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เผยแพร่พิมพ์เขียวของเครื่องตีเยื่อสาจึงเริ่มนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ [2] ซึ่งข้อดีของเครื่องตีเยื่อสาคือสามารถผลิตได้รวดเร็ว ปริมาณมาก และได้เยื่อสาที่ปั่นละเอียด นำมาทำกระดาษสาแผ่นบางได้เรียบสม่ำเสมอดีกว่าการใช้ค้อนทุบแบบดั้งเดิม ซึ่งมักได้กระดาษสาที่หนาบางไม่สม่ำเสมอ มีเส้นใยหยาบ และมีสิ่งสกปรกปะปนอยู่มาก แต่มีข้อเสียที่เยื่อสาถูกปั่นจนละเอียดเกินไปจนเยื่อไม่ประสานกันดีเท่าที่ควร ทำให้ความเหนียวของกระดาษสาลดลง การต้มเปลือกสาเปลี่ยนมาใช้โซดาไฟแทนขี้เถ้า ซึ่งช่วยให้เปลือกสาเปื่อยยุ่ยเร็วกว่าและหาซื้อได้ง่ายในปริมาณมาก นอกจากนี้เริ่มมีการฟอกเยื่อสาด้วยคลอรีนเพื่อให้ได้เยื่อสาที่สะอาด
ตลาดส่งออกกระดาษสาที่สำคัญในระยะแรกคือญี่ปุ่น ซึ่งต้องการกระดาษสาที่มีคุณภาพสูงและมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ต่อมาเริ่มขยายตลาดส่งออกไปสู่ยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งความนิยมผลิตภัณฑ์กระดาษสาของตลาดต่างประเทศแต่ละแห่งแตกต่างกันไป เช่น หากเป็นยุโรปและสหรัฐอเมริกานิยมกระดาษสาที่ทำมือล้วนๆ สีธรรมชาติ มีการประดับด้วยใบไม้และดอกไม้ โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น บัตรอวยพรในเทศกาลต่างๆ ชุดจดหมาย กรอบรูป อัลบั้มรูป กระดาษห่อของขวัญ ดอกไม้ประดิษฐ์
ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาที่นิยมมากคือบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ
จากการพัฒนาวิธีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าหรือตลาดจากภายนอก ส่งผลต่อการปรับตัวของช่างท้องถิ่นอย่างมาก ด้วยเงื่อนไขการผลิต การควบคุมคุณภาพสินค้า แรงงาน และกลไกการตลาด ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้จ้างผลิต ซึ่งอีกด้านหนึ่งคือผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและรูปแบบใหม่ให้ชาวบ้านสามารถทำผลิตภัณฑ์ให้สำเร็จตามต้องการ ซึ่งผู้ว่าจ้างชาวบ้านให้ผลิตกระดาษสารูปแบบต่างๆ โดยระยะแรกส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาพร้อมๆ กับการเสาะหาสินค้าหัตถกรรมที่น่าสนใจนำกลับไปขาย พ่อหลวงแก้วเล่าถึงการปรับตัวของชาวบ้านต้นเปาในช่วงเวลานั้นอย่างน่าสนใจว่า
“แต่เดิมการซื้อขายกระดาษในหมู่บ้าน ทำผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นคนมีเงินในหมู่บ้าน ทำการซื้อกระดาษสาจากชาวบ้านมารวบรวมไว้ แล้วนำของขายต่ออีกทอดหนึ่ง แต่นานเข้าไม่มีคนซื้อ พ่อค้าคนกลางยังมีของเก่าเก็บไว้เต็มบ้าน ก็ไม่รับซื้อจากคนทำรายย่อย คนทำก็เปลี่ยนไปหาอาชีพอื่นๆ ส่วนคนที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำกระดาษสาต่อไป ลักษณะเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกือบจะเจ๊งแล้ว แต่ยังมีคนใช้อยู่บ้าง คงสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนเหลือไม่กี่คนที่ยังทำกระดาษสา…
“ตอนผมอายุได้ 30 กว่าปี มีฝรั่งมาสืบเสาะหาข้อมูลว่ามีหมู่บ้านไหนที่ยังทำหัตถกรรมอยู่ คงสืบเสาะมาจากหน่วยราชการ หน่วยงานส่งเสริม หรือเวลามาเที่ยวซื้อของ เช่น ไปบ้านถวายดูงานไม้ ไปบ้านบ่อสร้างซื้อร่ม ซื้อผ้าทอ เพื่อรวบรวมซื้อของจากเมืองเราไปขายบ้านเขา เมื่อเจอหมู่บ้านนี้ทำกระดาษสาก็เห็นว่าน่าจะขายได้เพราะไม่ได้ใช้เครื่องจักรทำ จึงเกิดความสนใจ เขามาดูว่าถ้าทำแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม ให้ทำอย่างที่เขาอยากได้ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ลองถูกลองผิดจนได้ เขาก็ซื้อไป เป็นที่มาของการทำธุรกิจตามออเดอร์ (คำสั่งซื้อ) จากวันนั้นถึงวันนี้จุดแข็งของการทำกระดาษสาที่บ้านต้นเปาคือรับผลิตตามคำสั่งซื้อ ขายก่อนทำทีหลัง ลูกค้าเป็นคนกำหนดว่าต้องการแบบไหน สีอะไร แล้วพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน การค้าขายกระดาษสาที่บ้านต้นเปาฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งจากความต้องการของตลาดต่างประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์”
การ์ดอวยพรทำจากกระดาษสา ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และใบไม้แห้ง
กล่องและสมุดทำจากกระดาษสา สินค้าโชว์ของร้านบานชื่นกระดาษสา
ความยากของรูปแบบการผลิตในลักษณะนี้คือการฝึกแรงงานที่มีฝีมือ ที่ต้องพัฒนาตนเองไปพร้อมกับรูปแบบที่หลากหลายตามใจลูกค้า โดยในยุคแรกกระดาษสาที่บ้านต้นเปาเป็นที่ต้องการมาก ตอนนั้นชาวบ้านผู้ผลิตสามารถตั้งราคาได้เลย เพราะมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่เจ้า ซึ่งการคำนวณผลกำไรที่ได้ต้องคำนึงถึงค่าต้นทุนของชิ้นงานที่เสียหายไประหว่างการทดลองผลิตสินค้านั้นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเทคนิคการผลิตแบบใหม่ที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคยมาแต่เดิม
“เทคนิคเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามคำสั่งซื้อ เช่น การทำแผ่น มีการพัฒนาไปเยอะมาก จากการทำแผ่นแบบดั้งเดิม กลายเป็นใส่สีสัน หนาขึ้น ใส่ใบไม้ ดอกไม้ เป็นความต้องการของฝรั่งทั้งนั้น จากนั้นเริ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำของลูกค้า ทำเป็นสมุด อัลบั้ม กระดาษ กรอบรูป อะไรก็ตามที่ใช้กระดาษสาทำได้ กระบวนการเรียนรู้ชุมชนจึงถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการทางการตลาด ถือว่าเราโชคดีที่มีภูมิปัญญาการทำกระดาษสาและต่างชาติให้ความสนใจ”
คุณอิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ผู้ผลิตเชือกกระดาษสา
เชือกกระดาษสาหลากหลายสี
ในช่วงทศวรรษที่ 2530 นอกจากการผลิตกระดาษสาในชุมชนต้นเปาจะคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง ยังเกิดโรงงานและศูนย์หัตถกรรมผลิตกระดาษสาหลายแห่ง เช่น ศูนย์หัตถกรรมกระดาษสาและร่ม (Saa Paper & Umbrella Handicraft Centre) โดยคุณนิคม บุญตันจีน ตั้งอยู่ริมถนนสาย 1006 เชียงใหม่-สันกำแพง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง เปิดเมื่อ พ.ศ. 2530 ร้านค้าเก่าแก่ในหมู่บ้านก็เริ่มขยับขยายในช่วงเวลานี้ เช่น ร้านบ้านอนุรักษ์กระดาษสา โดยนายเจริญและนางฟองคำ หล้าปินตา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระดาษสามาช้านาน ก่อนจะเริ่มพัฒนาสินค้าเมื่อราวปี พ.ศ. 2525-2526 คุณป้าฟองคำ วัย 70 ปี เล่าให้ฟังว่า
“เริ่มแรกทำไปขายที่ตลาดเช้าที่บ้านบ่อสร้าง หาบไปนั่งขาย ขายเป็นแผ่นๆ และจัดเป็นชุด ชุดละ 50 แผ่น ที่บ่อสร้างมีร้านค้าเยอะ เขามาซื้อไปห่อของ คนทำร่มก็มาสั่งซื้อ… ต่อมาตอนอายุได้ 38-39 ปี เริ่มมีฝรั่งกับญี่ปุ่นเข้ามาขอดู เมื่อเขาสนใจเราก็ให้ดู ตอนนั้นเราทำกระดาษสาแผ่นใหญ่ๆ สีธรรมชาติ ญี่ปุ่นเริ่มมาสอนทำสี เอาสีเคมีมาให้ มีชาวฝรั่งเศสเป็นคู่สามีภรรยาก็เคยมาสอนเราทำกระดาษสาแบบใหม่ จากนั้นเริ่มผลิตเป็นกระดาษสาสีสันต่างๆ เช่น สีเขียว สีแดง ต่อมาก็เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์”
ปัจจุบันบ้านอนุรักษ์กระดาษสาของคุณป้าฟองคำเป็นโรงงานผลิตและเป็นแหล่งรับซื้อกระดาษสาจากชาวบ้านที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในบ้านต้นเปา นอกจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์แล้ว ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เกิดโรงงานอุตสาหกรรมผลิตกระดาษสาด้วยเครื่องจักรขึ้นหลายแห่งในหลายจังหวัด เช่น บริษัท ก้วงไถ่สเปเชียลเปเปอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2531 บริษัท อุตสาหกรรมกระดาษซินกวงฮั้ว (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2533 นอกจากนี้โครงการพัฒนาดอยตุงและโครงการส่วนพระองค์ส่วนจิตรลดา กรุงเทพฯ ก็เริ่มผลิตกระดาษสาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีบทบาททั้งด้านการผลิตและวิจัยการเพาะปลูกต้นสา
กระดาษสาประดับดอกไม้เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่พัฒนามาจากกระดาษสาแบบดั้งเดิม
ดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษสาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมมากในท้องตลาด
ถึงแม้ว่าการผลิตในระดับโรงงานขนาดใหญ่เช่นนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นช่างท้องถิ่น เนื่องจากมีกลุ่มตลาดที่ต่างกัน แต่โรงงานขนาดใหญ่ๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อการกำหนดราคาของเปลือกสาซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งปัจจุบันเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้ามาจากประเทศลาวและพม่า มีทั้งเปลือกสาคุณภาพดีคือเปลือกต้นสาที่มีอายุ 1-2 ปี เปลือกเหนียว เส้นใยใส และที่คุณภาพต่ำลงมาคือเปลือกต้นสาที่มีอายุ 3-5 ปีขึ้นไป ซึ่งมีคุณภาพเส้นใยลดลง
เช่นเดียวกับงานหัตถกรรมประเภทอื่นๆ ในอำเภอสันกำแพง กระดาษสาที่บ้านต้นเปาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ช่วงเวลานั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ผลิตกระดาษสาในหมู่บ้านต้นเปาเพิ่มจำนวนขึ้นและเริ่มมีคนจากต่างถิ่นเข้ามาเปิดกิจการในหมู่บ้าน ถึงแม้ว่าในระยะแรกๆ ของการผลิตภายใต้กระแส OTOP ได้รับการตอบรับที่ดี ทว่าอีกด้านหนึ่งเมื่อมีการผลิตมากขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องราคาสินค้า ส่งผลให้ร้านทำกระดาษสาหลายเจ้าค่อยๆ ล้มเลิกไป เหลืออยู่เฉพาะร้านหรือโรงงานที่เข้มแข็ง
เครื่องตอกกระดาษสาเป็นรูปร่างต่างๆ ตามแม่พิมพ์โลหะ
กระดาษสาที่ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ ถูกจัดเป็นชุดพร้อมส่งขาย
กระบวนการผลิตที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้คือ การแบ่งงานกันภายในหมู่บ้านโดยสัมพันธ์เป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านอยู่ริมถนนบ้านต้นเปา จำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษสาทั้งปลีกและส่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยๆ คือ ผู้ที่มีโรงงานผลิต เช่น บ้านอนุรักษ์กระดาษสา และผู้ที่รับซื้อจากผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มทำถุง กลุ่มพับกล่อง กลุ่มทำแผ่นกระดาษสา กลุ่มย้อมสี กลุ่มใส่ดอกไม้ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ กลุ่มทำเชือก แต่ละกลุ่มมีการจ้างแรงงานผลิตตามแต่ความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีคนในหมู่บ้านต้นเปาและพื้นที่ใกล้เคียง จึงกล่าวได้ว่าการแปรรูปผลิตภัณฑ์กระดาษสาภายในชุมชนบ้านต้นเปา เป็นอาชีพที่กระจายรายได้ให้ชุมชน เพราะไม่มีบ้านหรือร้านค้าใดที่ผลิตทุกขั้นตอน ดังเช่น “บ้านเชือกกระดาษสา” โดยคุณอิ่นแก้ว อุ่นแก้ว อายุ 62 ปี และคุณกนกวรรณ บัวเรือง อายุ 42 ปี บุตรสาว
คุณแม่อิ่นแก้วเล่าว่าเริ่มทำเชือกกระดาษสามาตั้งแต่อายุได้ 30-40 ปี เริ่มแรกเป็นลูกจ้างทำให้โรงงานต่างๆ ในหมู่บ้าน ต่อมาผันตัวเองมาเป็นผู้ขายส่งและกระจายงานให้ผู้ผลิตรายย่อยในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานฟั่นเชือก งานย้อมสีเชือก และงานทำดอกไม้ประดิษฐ์ เชือกกระดาษสาที่ทำส่งขายมี 3 ขนาดคือ เล็ก กลาง ใหญ่ มีหลากสีสัน ได้แก่ สีธรรมชาติ สีล้วนคือทำเป็นสีต่างๆ และสีบาติกที่มีหลายสีในเส้นเดียวเหมือนอย่างการย้อมผ้าบาติก เชือกกระดาษสาเหล่านี้ถูกส่งไปขายยังร้านเครื่องเขียน สำหรับนำไปใช้จัดตกแต่งบอร์ดนิทรรศการในโรงงาน ทำงานประดิษฐ์ ใช้ผูกกล่องของขวัญแทนริบบิ้น หรือใช้ทำเป็นหูหิ้วถุงกระดาษ การส่งขายแต่ละครั้งอาจมีจำนวนมากถึงหมื่นเส้น
คุณแม่อิ่นแก้วสาธิตการฟั่นเชือก
เชือกกระดาษสาตากแดดอยู่บนราวที่โรงย้อมสีในหมู่บ้านต้นเปา
“ในหมู่บ้านมีไม่กี่บ้านที่ฟั่นเชือก เหลือแต่คนแก่ คนรุ่นใหม่ๆ ออกจากบ้านไปทำงานอย่างอื่น… ความยาวเชือกประมาณ 1 เมตร 20 เซนติเมตร ถ้าบางคนปั่นแน่นความยาวก็หดลงหน่อย ส่งขายเป็นมัดละ 100 เส้น ปกติลูกค้าซื้อจะเอาครบ 10 สี ก็ 1,000 เส้น แต่ละมัดสีไม่ซ้ำกัน วิธีการทำเราฟั่นเชือกก่อนแล้วค่อยนำไปย้อมสี ขายราคาส่งเส้นละ 1 บาทกว่าๆ 1 มัด 100 เส้น ขายได้ราวๆ 125-150 บาท แล้วแต่ว่าลูกค้ารับผิดชอบเรื่องค่าขนส่งด้วยหรือไม่
“ตอนนี้เรารับซื้อจากคนแถวๆ บ้านเพราะเราทำหลายอย่างไม่ไหว เขาทำเสร็จแล้วก็เอามาส่งให้ โดยส่งมาเป็นเชือกสีขาว แล้วเราเอาไปส่งย้อมอีกทีหนึ่ง พวกกระดาษสาแผ่นเราก็รับซื้อ ทำส่งให้เราทีละ 100 แผ่น ส่งขายต่อตกราคาแผ่นละ 7-8 บาท มีหลายแบบ เช่น กระดาษดอก (ใส่ดอกไม้แห้ง) กระดาษสีพื้น กระดาษบาติก” แม่อิ่นแก้วเล่า ซึ่งการฟั่นเชือกกระดาษสาและการย้อมสีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองเหมือนอย่างการแปรรูปผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆ และเมื่อถามถึงบรรยากาศการค้าขายที่คึกคักในช่วง OTOP ระยะแรกๆ แม่อิ่นแก้วเล่าว่า
“ช่วงที่ขายดีๆ OTOP สมัยทักษิณ ตอนนั้นขายได้ทุกอย่าง เชือกขาวๆ คนฟั่นยังทำแทบไม่ทัน แล้วก็งานพืชสวนโลก ตอนนั้นสุดยอด ขนาดของเก่าๆ ยังขายได้ ของที่แขวนโชว์ไว้ตามร้านค้าแถวบ่อสร้างยังขายได้ บ้านเราทำผลิตภัณฑ์สมุดและอะไรต่ออะไร ทำกันทั้งคืน ไม่ได้หลับได้นอน ตอนปี 2548-2549 ขายดีมากๆ” ต่อมาเริ่มผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ โดยใช้เครื่องตอกกระดาษสาเป็นรูปต่างๆ เช่น การ์ตูน ดอกไม้ ใบไม้ แล้วส่งให้ชาวบ้านจัดเป็นชุดๆ ส่วนเศษกระดาษสาที่เหลือก็ส่งไปโม่แล้วผลิตเป็นกระดาษสาได้ใหม่
กระดาษสาตัดเป็นรูปต้นคริสต์มาส สำหรับนำไปตกแต่งการ์ดหรือสมุดบันทึก
กระดาษสารูปดอกไม้ขนาดเล็ก ๆ
เมื่อกระดาษสาบ้านต้นเปากลายเป็นสินค้า OTOP ยอดนิยม โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนก็ตามมา รวมถึงโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) ที่เริ่มต้นอย่างชัดเจนในช่วงปี พ.ศ. 2549 โดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงสินค้า OTOP เข้ากับการท่องเที่ยว ก่อนหน้านั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านต้นเปานั่นคืองาน “มหัศจรรย์ล้านนา เมืองกระดาษสาบ้านต้นเปา” ซึ่งจัดเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ร้านค้าต่างๆ ในหมู่บ้านยังเปิดกิจกรรม Workshop ทำกระดาษสาสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจ แต่ปัจจุบันหยุดชะงักไปเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เช่นเดียวกับธุรกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษสาต่างๆ ที่ซบเซาลง
งานหัตถกรรมกระดาษสาที่บ้านต้นเปามีสิ่งสำคัญที่ต้องขบคิดเช่นเดียวกับงานหัตถกรรมประเภทอื่นๆ นั่นคือเรื่องการสืบทอดภูมิปัญญาและอาชีพมาสู่คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการฟั่นเชือกกระดาษสาที่ปัจจุบันมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งทำงานอยู่ที่บ้าน หรือการทำแผ่นกระดาษสาที่แรงงานวัยหนุ่มสาวมีน้อยเต็มที ทำให้แหล่งผลิตขนาดใหญ่ต้องจ้างแรงงานต่างชาติ พ่อหลวงแก้วได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า
“ถ้าถามว่าคนรุ่นใหม่ทำต่อไหม คิดว่าถึงเวลานั้นน่าจะมีอยู่ แต่ถ้าวิเคราะห์ก็ยาก ลูกของผมยังไม่ทำ เขาแต่งงานออกไปแล้ว นอกจากถ้าเราไม่มีใครสานต่อ ถ้าเขาเห็นความสำคัญก็คงกลับมา… ถามว่ามันจะหายไปจากต้นเปาไหม คิดว่าน่าจะยังมีใครสักคนสืบทอดต่อไป แต่ถ้ามันบูมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คนก็กลับมาทำ ตอนนี้ยังลุ่มๆ ดอนๆ ถ้าวันหนึ่งการท่องเที่ยวเติบโตก็คงมีมาสืบทอด… อีกอย่างเราส่งคนรุ่นใหม่ไปเรียน เมื่อเทียบรายได้กับอาชีพอื่นๆ ได้มากกว่า มั่นคง เรียนจบไปทำงานบริษัทได้เงินเดือนไม่รู้กี่หมื่น ใครจะอยากทำกระดาษสา ค่าตอบแทนไม่จูงใจ เราอายุมากแล้วไม่รู้ไปไหนอยู่กับบ้าน มีคนมาเยี่ยมได้นิดหน่อยก็ได้ เพราะไม่คำนึงเรื่องเงินและกำไรแล้ว คำนึงเรื่องชุมชนมากกว่า”
ดอกกุหลาบประดิษฐ์จากกระดาษสา ผลงานนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อสร้างนรากรประสาท
เชิงอรรถ
[1] ดู นัยนา นิยมวัน, โยชินาริ โกบายาชิ, “สองทศวรรษของการพัฒนากระดาษสาไทย” ใน เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่องบทบาทของปอสาในวงจรธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 1 ต.ค. 2542 เข้าถึงจาก http://posaa.kapi.ku.ac.th/Document/PDF /saniyana.pdf
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 16.
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ,งานวิจัย,วิทยานิพนธ์,บทความ
กองบรรณาธิการ. “เสน่ห์กระดาษสายังไม่สิ้น,” ใน สารคดี. ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 เมษายน 2531.
วชิราภรณ์ ใจเที่ยง. การจัดการการผลิตและการตลาดในธุรกิจกระดาษสา บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2555.
วราภรณ์ เรืองศรี. คาราวานและพ่อค้าทางไกล : การก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทยและดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2557.
วิภาต. นามปากกา. “ช่างทำกระดาษสาที่บ่อสร้าง,” ใน สตรีสาร. ปีที่ 34 ฉบับที่ 7 พ.ค. 2526.
สมศักดิ์ วชิรพันธุ์. การถ่ายทอดความรู้หัตถกรรมท้องถิ่น : กรณีการทำกระดาษสา บ้านท่าล้อ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2537.
สุดารา สุจฉายา. บรรณาธิการ. เชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สารคดี,2543.
สุนันทา คำนันตา. การทำร่มกับชาวบ่อสร้าง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,2515.
เว็บไซต์
นัยนา นิยมวัน, โยชินาริ โกบายาชิ “สองทศวรรษของการพัฒนากระดาษสาไทย”. แหล่งที่มา : http://posaa.kapi.ku.ac.th/Document/PDF /saniyana.pdf
“ฟาร์มกระดาษสา”. แหล่งที่มา : https://sapaperfarm.com/th
“หมู่บ้านต้นเปา-OTOP Village”. แหล่งที่มา https://www.otop-village.com/th/places_detail/11966
ข้อมูลสัมภาษณ์
คุณวิจิตร ญี่นาง (พ่อหลวงแก้ว) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563
คุณฟองคำ หล้าปินตา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563
คุณอิ่นแก้ว อุ่นแก้ว และคุณกนกวรรณ บัวเรือง สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563
(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)