มนุษย์ในโลกดิจิทัล
แวดวงเสวนา

มนุษย์ในโลกดิจิทัล

 

เมื่อวันที่ 4-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมทางวิชาการมานุษยวิทยา ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “มนุษย์ในโลกดิจิทัล” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดและตั้งคำถามต่อเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัล โดยนำเสนอแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่ใช้ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์เหล่านี้

 

ในการประชุมทางวิชาการครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานในวันที่ 4 กรกฎาคม ทรงเปิดห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และห้องสมุด สุข กาย ใจ ซึ่งได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ และร่วมทอดพระเนตรนิทรรศการ คน ไซเบอร์ ดิจิทัล รวมถึงนิทรรศการซึ่งนำเสนอแนวคิดการจัดการข้อมูลดิจิทัล ผ่านตัวอย่างงาน คลังข้อมูล แผนที่วัฒนธรรม และสื่อสร้างสรรค์ที่จัดขึ้น

 

 

 

กิจกรรมวันแรก ภาคเช้าเริ่มต้นด้วยปาฐกถา เรื่อง “ความเป็นมนุษย์ในโลกดิจิทัล” โดย ดร.นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ และการฉายภาพยนตร์ทางมานุษยวิทยา เรื่อง Everything’s under Control  ส่วนกิจกรรมในภาคบ่ายแบ่งเป็น 3 ห้องย่อย ซึ่งมีทั้งการบรรยาย การเสวนา และการนำเสนอบทความ ได้แก่ การบรรยายเรื่อง “การปรับตัวของราชการไทยในสังคมดิจิทัล” เสวนาเรื่อง “ชาติพันธุ์ในโลกดิจิทัล” “ปัญญาประดิษฐ์ในวิถีชีวิต” และ “ราชการไทยในยุคดิจิทัล”  นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอ และวิจารณ์บทความภายใต้ประเด็น “จริยธรรมและอำนาจในยุคดิจิทัล” และ “ความเสี่ยงในสังคมดิจิทัล” ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถเลือกฟังและแสดงความคิดเห็นได้ตามความสนใจ

 

 

 

การประชุมในวันที่สอง เริ่มต้นด้วยการเสวนาเรื่อง “สะท้อนย้อนคิดโลกดิจิทัล” โดย รศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รศ.ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ดำเนินรายการโดย ดร. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จากนั้นตลอดทั้งวันเป็นการนำเสนอบทความผ่าน 3 ห้องย่อย โดยนักวิจัยรุ่นใหม่และมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวิจารณ์เพื่อเสริมมุมมองที่แหลมคมยิ่งขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจมีหลากหลาย เช่น “เกมส์ และ E-Sports” “ทุนนิยมดิจิทัล” “ปัญญาประดิษฐ์” “สำรวจสื่อออนไลน์: คุณค่า ความขัดแย้ง และการแก้ปัญหา” “มานุษยวิทยาดิจิทัล” “การก้าว (ไม่)ทันโลกดิจิทัล” “สังคมดิจิทัลในนิยายสยองขวัญ” “อินเทอร์เน็ตกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง” “แฟนคลับในโลกดิจิทัล” “วาทกรรมในสื่อออนไลน์” และ “ปรัชญา ศาสนาและศิลปะในโลกดิจิทัล”

 

 

กิจกรรมวันสุดท้ายในวันเสาร์ที่ 6 ก.ค. เริ่มต้นสบายๆ ตามประสามานุษยวิทยาที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการศึกษาจึงชวนกันทบทวน “ภววิทยาและวิธีวิทยา” ไปกับการบรรยายเรื่อง “มานุษยวิทยาดิจิทัล: ภววิทยาและวิธีวิทยาศึกษาวัตถุ/สังคม/ผู้คนของสิ่งดิจิทัล” โดย ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นร่วมติดตามสถานการณ์และร่วมเรียนรู้โลกดิจิทัลไปกับงานวิจัยภายใต้หัวข้อดังต่อไปนี้ “อัตลักษณ์ในโลกดิจิทัล” “มหรสพในโลกดิจิทัล” “เทคโนโลยีดิจิทัลกับการจัดการความรู้วัฒนธรรม” “เพศในยุคดิจิทัล” “ชุมชนออนไลน์” “ชาติพันธุ์นิพนธ์บนสนามออนไลน์” และปิดท้ายงานด้วยการอภิปรายสรุป “มานุษยวิทยากับความท้าทายในโลกดิจิทัล” โดย รศ.ดร. นิติ ภวัครพันธุ์ ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร และดร. สายพิณ ศุพุทธมงคล ดำเนินรายการโดย ดร. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

 

 

จากการนำเสนองานวิจัยต่างๆ ตลอดทั้งสามวันที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีความหลากหลายในประเด็นและขอบเขตของการศึกษา บ้างยังคงสนใจประเด็นคลาสสิกในการศึกษาทางมานุษยวิทยา เช่น ชาติพันธุ์ มหรสพ แต่ด้วยบริบทใหม่ในโลกดิจิตอล จะเห็นว่าหลายเรื่องมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ  เช่น เกมส์ E-Sports ปัญญาประดิษฐ์ สื่อออนไลน์ โดยกลุ่มนักวิจัยมีตั้งแต่นักศึกษาปริญญาตรี โท เอก รวมไปถึงอาจารย์ทั้งในสาขามานุษยวิทยา และสาขาอื่นๆ ส่วนกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาก็มีความหลากหลาย เช่น ครอบครัวอัยการผู้พิพากษา คนขับแท็กซี่ ชมรมคนทำป้าย ช่างภาพภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายกันถึงทฤษฎีและวิธีวิทยาในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีข้อคุณูปการและข้อจำกัดของวิธีวิทยาแบบเดิมๆ รวมไปถึงเครื่องมือและแนวทางการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทใหม่ๆ

 

สำหรับหัวข้อที่น่าสนใจภายในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ขอยกตัวอย่างมานำเสนอเพียง 2 หัวข้อที่แสดงถึงความหลากหลายท่ามกลางโลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างขนานใหญ่ หัวข้อแรกคือการเสวนาเรื่อง “ชาติพันธุ์ในโลกดิจิทัล” วิทยากรโดยคุณสิทธิพร เนตรนิยม ผศ.ดร. มรกต ไมยเออร์ และคุณวิมลสิริ เหมทานนท์ นำเสนอกรณีศึกษาความหลากหลายและซับซ้อนในภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐที่ตนเองสังกัดและดำรงชีวิตอยู่ การแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอาเซียนบนพื้นที่โลกออนไลน์ เช่น Facebook และ Youtube ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยกลุ่มเป้าหมายของการศึกษามีทั้งนักท่องเที่ยวไทยในพม่า แรงงานชาวพม่าในไทย แรงงานชาวอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียในประเทศมาเลเซีย พลเมืองพหุวัฒนธรรมเชื้อสายจีน มาเลย์ และอินเดียในประเทศสิงคโปร์

 

 

ประเด็นที่ 2 คือ ความเสี่ยงในสังคมดิจิทัล หัวข้อนำเสนอที่น่าสนใจ ได้แก่ อาชญากรรม Romance Scam และความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ โดย ผศ.ดร. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ ความเสี่ยงในโลกดิจิทัล จากกรณีศึกษา “โรแมนซ์สแกรม” ถึง “คอลเซนเตอร์” โดย ธีรวัจน์ ดารามาศ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเรื่องการคบเพื่อนในยุคสื่อสังคมออนไลน์ โดย ปารินันท์ ปางทิพย์อำไพ ซึ่งได้ ดร.กิตติกร สันคติประภา มาช่วยให้คำแนะนำและเพิ่มเติมมุมมองทั้งแนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์และข้อกำหนดทางสังคมวัฒนธรรมที่กำกับอยู่

 

แม้งานประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 13 หัวข้อ “มนุษย์ในโลกดิจิทัล” จะจบลงไปแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของโลกสมัยใหม่ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลย้อนหลังรายการต่างๆ ของการประชุมครั้งนี้ได้ทั้งทาง Facebook Live ที่ https://www.facebook.com/sac.anthropology/  และเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) คลิก http://www.sac.or.th/conference/2019/

 

การประชุมวิชาการในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่และโอกาสในการติดตามสถานการณ์ความเป็นไปของชุมชนวิชาการ องค์ความรู้และการศึกษาทางมานุษยวิทยา ผ่านประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในโลกดิจิทัล เพื่อทบทวนความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างตัวเองกับผู้อื่น ทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคม อันประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งสถานะและชุมชนท้องถิ่น ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ  ทั้งยังได้เรียนรู้เครื่องมือและระเบียบวิธีการศึกษาจากนักวิจัยท่านอื่นๆ ในด้านวิธีการทำงาน การรวบรวมข้อมูลเอกสาร และการทำงานภาคสนามที่ปรับให้สอดคล้องและเท่าทันสถานการณ์ในโลกดิจิทัลปัจจุบัน 

 


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ