ชวนอ่านเพื่อเข้าใจคริสตศิลป์
หนังสือหนังหา

ชวนอ่านเพื่อเข้าใจคริสตศิลป์

 

เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์

จอร์จ เฟอร์กูสัน เขียน 

กุลวดี มกราภิรมย์ แปล อธิบายและวิจัยภาพประกอบเพิ่มเติม

สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2556

 

ปกฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7  โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์

 

หากใครเคยอ่านหนังสือนิยายของ แดน บราวน์ (Dan Brown) ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) เทวากับซาตาน (Angels & Demons)  สู่นรกภูมิ (Inferno) ซึ่งจำแนกยากเหลือเกินว่าจะเป็นนิยายแนวใด เพราะเป็นการผสมผสานทั้งแนวลึกลับ สอบสวน วิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) แฟนตาซี และศาสนา โดยเฉพาะในนิยายชุดที่ตัวเอกคือ โรเบิร์ต แลงดอน (Robert Langdon) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและสัญลักษณ์วิทยา (Symbology) ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกาและมีชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โรเบิร์ต แลงดอนเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสัญลักษณ์ รหัสลับ และการแปลความหมายต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้นที่ปรากฏอยู่ในเอกสาร บันทึก งานจิตรกรรม ชื่อสถานที่ และสิ่งของต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา

 

หนังสือที่รวบรวมสัญลักษณ์ในคริสต์ศาสนาที่ปรากฏอยู่ในงานคริสต์ศิลป์ (Christian Art) ที่ได้รับความนิยมมากเล่มหนึ่งคือ Signs and Symbols in Christian Art เขียนขึ้นโดยจอร์จ เฟอร์กูสัน (George Ferguson) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1954  หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อว่า เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์  โดย กุลวดี มกราภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีและศิลปะตะวันตก เชื่อว่าหากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะทำความเข้าใจศิลปะในคริสต์ศาสนามากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ท่านเข้าใจและสนุกไปกับนิยายที่ซับซ้อนของแดน บราวน์มากยิ่งขึ้น

 

ฉบับภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์โดย Oxford University Press ปี 1959 มีวางขายในเว็บไซต์ amazon  

 

สาธุคุณจอร์จ เฟอร์กูสัน อธิการของโบสถ์เซนต์ฟิลิปส์อินเดอะฮิลส์ (Saint Philip’s in the Hills) เมืองทูซอน มลรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอความเป็นสากลของศาสนาคริสต์ให้แก่ผู้คนทั่วไปได้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ส่วนในฉบับแปลภาษาไทยโดยอาจารย์กุลวดี มกราภิรมย์ ผู้แปลได้วิจัยเนื้อหาและภาพประกอบเพิ่มเติม เป็นอรรถาธิบายที่ทำให้เราเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายและสัญลักษณ์ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาที่ท่านสาธุคุณเสนอไว้อย่างกระจ่างแจ้งมากขึ้น

 

เครื่องหมายและสัญลักษณ์มีความหมายและหน้าที่ที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าอาจจะมีรูปแบบเหมือนกันก็ตาม เครื่องหมายอาจมีความเป็นสากลที่เข้าใจร่วมกันได้ทั่วโลก มีรูปแบบที่สามารถใช้ร่วมกันได้และมีความเข้าใจตรงกันทั่วโลก แต่สัญลักษณ์นั้นมีการหยิบมาใช้ที่ต่างออกไป เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือศาสนา เฉพาะคนที่อยู่ในชุมชนหรือสังคมเดียวกันเท่านั้นที่จะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของสัญลักษณ์เหล่านั้น มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในบริบทร่วมกัน

 

ปกฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6  โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์

 

ภายในเล่มนำเสนอเครื่องหมายและสัญลักษณ์ที่มีมากมายในคริสต์ศิลป์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในคริสต์ศาสนานิกายต่างๆ ในช่วงเวลาและสถานที่ต่างๆ กัน องค์ประกอบของหนังสือเล่มนี้แบ่งหมวดหมู่ของเครื่องหมายและสัญลักษณ์ออกเป็น 14 หมวดด้วยกัน ได้แก่

หมวด 1 สัตว์ นก และแมลง

หมวด 2 ดอกไม้ ต้นไม้ และพืช

หมวด 3 พื้นพิภพและท้องฟ้า

หมวด 4 ร่างกายมนุษย์

หมวด 5 รังสี ตัวอักษร สี และตัวเลข

หมวด 6 เครื่องแต่งกายทางศาสนา

หมวด 7 วัตถุที่ใช้ในศาสนพิธี

หมวด 8 สิ่งประดิษฐ์

หมวด 9 ภาคพันธสัญญาเดิม

หมวด 10 นักบุญจอห์นแบปทิสต์

หมวด 11 แม่พระผู้นิรมล

หมวด 12 พระเยซูคริสต์

หมวด 13 พระตรีเอกภาพ แม่พระ และเทพสวรรค์

หมวด 14 นักบุญ

 

ทั้ง 14 หมวดนี้ต่างมีปรากฏในงานคริสต์ศิลป์ ทำให้เราเข้าใจรายละเอียดและความหมายของเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในภาพได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้สนุกกับการชมภาพเหล่านี้มากขึ้นอย่างแน่นอน

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ