วิถีคนเลสาบ : มรดกเมือง ความทรงจำ และการท่องเที่ยว
แวดวงเสวนา

วิถีคนเลสาบ : มรดกเมือง ความทรงจำ และการท่องเที่ยว

           เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 วารสารเมืองโบราณร่วมกับเทศบาลเมืองพัทลุง ภาคีคนรักเมืองสงขลา และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากวัดดีหลวง จัดเสวนาในหัวข้อ “วิถีคนเลสาบ: มรดกเมือง ความทรงจำ และการท่องเที่ยว” ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน เทศบาลเมืองพัทลุง (อาคารอิรวดี) "โรงแรมอิรวดี” จังหวัดพัทลุง โดยมีวิทยากร ได้แก่ อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองพัทลุง-สงขลา อาจารย์ประมวล มณีโรจน์  นักเขียนรางวัลช่อการะเกดแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา และ พระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริภทฺโท พระนักพัฒนาตัวแทนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากวัดดีหลวง ร่วมวงเสวนา ดำเนินรายการโดย อาจารย์วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ จากภาคีคนรักเมืองสงขลา

 

อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล

อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล

 

           ก่อนเริ่มการเสวนา นายสุเมธ บุญยก นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุงให้เกียรติขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฟังเสวนาและชี้ว่าการเสวนาครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาความรู้ของเมืองพัทลุง นับเป็นโอกาสอันดีที่คนพัทลุงจะได้รับความรู้ที่กว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านใดก็ตาม

 

           เมื่อเข้าสู่การเสวนา ในช่วงแรกอาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล ได้บอกเล่าถึงภาพรวมประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ว่า บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก มีการใช้พื้นที่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนมาถึงยุคที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่จึงเกิดเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ถ้ำคูหาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กับวัดพะโคะ ตระพังต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในอำเภอสทิงพระ บ้านเมืองในคาบสมุทรสทิงพระและพัทลุงมีพัฒนาการเรื่อยมา เกิดเป็นเมืองโบราณที่สำคัญ ได้แก่ เมืองไชยบุรี พัทลุง เมืองสงขลาที่หัวเขาแดง เป็นต้น  

 

ภาพบรรยากาศในงานเสวนา

ภาพบรรยากาศในงานเสวนา

 

           อาจารย์ประมวล มณีโรจน์ ได้เสริมประเด็นเรื่องวิถีวัฒนธรรมและความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา อาจารย์ประมวลกล่าวว่า “ตอนนี้โลกรู้จักเมืองพัทลุงแล้ว” ด้วยการท่องเที่ยวและสื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ออกไป เมืองพัทลุงมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่งผลผลิตข้าวไปยังเมืองสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง กระทั่งถึงยุคการพัฒนาถนนหนทางเข้ายังบ้านเมืองในลุ่มทะเลสาบสงขลา ความเจริญแบบยุคสมัยใหม่เริ่มคืบคลานเข้ามาพร้อมกับคนจากภายนอกที่เข้ามาตักตวงทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบแห่งนี้

 

อาจารย์ประมวล มณีโรจน์

           นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เรียนรู้จากการสังเกตธรรมชาติ ฤดูกาล และความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับผู้คน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและการใช้ทรัพยากร จากลักษณะของพื้นที่ในบริเวณนี้ ทำให้เกิดคำเรียกแบ่งพื้นที่ออกเป็น “ฟาก” และ “ฝั่ง” ประกอบด้วย 2 ฟาก ได้แก่ ฟากตะวันตกของเทือกเขาบรรทัดคือจังหวัดตรังและสตูล ส่วนฟากตะวันออกของเทือกเขาบรรทัดก็คือพัทลุง ส่วน 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาคือจังหวัดพัทลุง และฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาคือสทิงพระ-หัวไทร

 

           ฤดูฝนของพื้นที่ในแถบนี้จะมีช่วงเวลาเหลื่อมกันประมาณ 1 เดือน ในบริเวณฟากตะวันตกของเทือกเขาบรรทัดฝนจะตกก่อน ถัดมาราว 1 เดือนทางฟากตะวันออกของเทือกเขาบรรทัดฝนจึงจะตกตามมา ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลต่อฤดูกาลที่แตกต่างกันไปด้วย

 

ภาพบรรยากาศในงานเสวนา

 

           ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวจะมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน ข้าวทางฟากตะวันตกจะสุกก่อน คนพัทลุงและสทิงพระจะไปช่วยคนตรังและสตูลเก็บเกี่ยวข้าว พอเสร็จจากทางฟากตะวันตก คนตรัง สตูล และสทิงพระจะมาช่วยคนพัทลุงเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากนั้นข้าวทางฝั่งสทิงพระและหัวไทรก็จะสุกตามมา คนตรัง สตูล และพัทลุงจะตามไปช่วยเช่นเดียวกัน จากความสัมพันธ์ดังกล่าวในเวลาต่อมาจึงมี “เกลอดอง” เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ 2 ฟาก และ 2 ฝั่ง ซึ่งมีความใกล้ชิด ช่วยเหลือเกื้อกูล และมีรูปแบบวิถีชีวิต ตลอดจนวัฒนธรรมหลายอย่างร่วมกัน

 

           ณ เวลานี้ทรัพยากรธรรมชาติของพัทลุงและทะเลสาบสงขลาเริ่มร่อยหรอและกำลังจะหมดไป ปลาในทะเลสาบที่เคยมีอยู่มากมายหลายชนิดค่อยๆ ลดจำนวนลง พันธุ์ปลาที่อร่อยและขึ้นชื่อของทะเลน้อยเริ่มจะหาไม่ได้ ปัจจุบันพันธุ์ปลาที่แต่เดิมไม่นิยมนำมารับประทานได้กลายเป็นปลาขึ้นชื่อของทะเลน้อยแทน นอกจากนี้การเกิดขึ้นของตลาดต่างๆ ตามเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟและถนนหนทาง โดยเฉพาะถนนหนทางที่เข้าถึงเกือบทั่วทุกหมู่บ้าน ทำให้การเข้าถึงทรัพยากรท้องถิ่นเป็นได้โดยง่ายและถูกนำมาใช้มากยิ่งขึ้น

 

พระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริภทฺโท

 

           ลำดับต่อมาพระครูใบฎีกาศักรินทร์ สิริภทฺโท จากวัดดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ได้ถ่ายทอดบทเรียนและประสบการณ์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น ด้วยการนำเรื่องเล่าตำนานของสมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดแห่งวัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ โดยนำพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติของท่านมาเชื่อมโยงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่สทิงพระ

           ในกระบวนการทำงาน นอกจากการเตรียมข้อมูลจากเรื่องเล่าต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อนำมาบอกเล่าให้นักท่องเที่ยวฟังแล้ว ยังต้องทำงานร่วมกับชาวบ้านที่อาสามาเป็นมัคคุเทศก์และช่วยอำนวยความสะดวกในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น

 

อาจารย์วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ

 

           ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะประสบปัญหาอยู่บ้าง แต่ค่อยๆ แก้ไขไปทีละเรื่อง เช่น เมื่อรถท่องเที่ยวไม่เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ได้ดึงรถซาเล้งของชาวบ้านเข้ามาร่วมบริการนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังทำการค้นหามรดกวัฒนธรรมอื่นๆ ในพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อสร้างการท่องเที่ยวเรียนรู้ในท้องถิ่นให้น่าสนใจมากขึ้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังพูดไม่ได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ถือว่าเกิดการตื่นตัวและความร่วมมือกันของคนในพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

 

           ในช่วงท้ายอาจารย์วุฒิชัยกล่าวถึงข้อคิดเห็นเรื่องการสร้างความหมายใหม่ๆ หรือการบอกเล่าตำนาน ดังเช่นเรื่องของสมเด็จเจ้าพะโคะ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดที่วัดพะโคะ หรือเรื่องหลวงพ่อทวดที่วัดช้างให้ เป็นเรื่องที่ต้องมีการเรียนรู้เกี่ยวกับตำนานเหล่านี้ต่อไปและควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

 

           ทางด้านอาจารย์ประมวลได้ทิ้งท้ายข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกระแสการท่องเที่ยวในปัจจุบันว่า เมื่อการท่องเที่ยวคืบคลานเข้าสู่ชุมชนใดหรือเมืองใดจะต้องตั้งรับกันให้ดี เพราะการท่องเที่ยวอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและอาจทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ ตามมาได้

 

           ปัจจุบันทุกชุมชนเริ่มเปิดสู่การท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งตามนโยบายการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้ชุมชนและกระแสสื่อสังคมออนไลน์ที่มีมากขึ้น จะเห็นว่าการท่องเที่ยวตามกระแสที่จัดขึ้นมีทั้งโดยชุมชน โดยรัฐ และการท่องเที่ยวแบบปัจเจก การท่องเที่ยวเป็นการเปิดพื้นที่ทางทรัพยากร เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกเผยออกสู่สังคม คนในท้องถิ่นจะต้องรวมกลุ่มกัน ร่วมกันพัฒนา ปรับตัว และรับมืออย่างมีสติ ไม่ว่ากระแสการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร หากตระหนักรู้และมีความเข้าใจก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้ 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ