ตลาด การสัญจร และถิ่นฐานของผู้คน
หนังสือหนังหา

ตลาด การสัญจร และถิ่นฐานของผู้คน

 

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยนักเรียนและครูในโรงเรียนท้องถิ่นนั้นเป็นกิจกรรมที่น่าสนับสนุนเพราะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การได้ความรู้ที่จะช่วยยกระดับความคิดได้

 ดร. เลิศชาย ศิริชัย  ผู้ประสานงานโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้

 

ตลาด การสัญจร และถิ่นฐานของผู้คน 

         ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ เล่ม 4 สงขลา สตูล 

เลิศชาย ศิริชัย บรรณาธิการ 

กรุงเทพฯ : สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2558 

         

หนังสือเล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ จังหวัดสงขลาและสตูล โดยมีกลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ มาเข้าร่วมทำการวิจัย เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้เกิดขึ้นได้จากการสำรวจ สืบค้น และกลั่นกรองข้อมูล อีกด้านหนึ่งการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เกิดสำนึกร่วมในท้องถิ่น เด็กๆ ที่เข้าร่วมทำการศึกษาวิจัยจะมีความเข้าใจชุมชนของตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยผลงานของกลุ่มยุววิจัยจากจังหวัดสงขลาและสตูลถูกนำเสนอเป็นบทความที่น่าสนใจ ดังนี้  

 

รถไฟขบวนสงขลาหาดใหญ่กับผลกระทบต่อประชาชน

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนวรนารีเฉลิม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

         

เมื่อสิ้นเสียงรถไฟ... คงเหลือไว้แต่ความทรงจำ

เหตุใดทางรถไฟที่เคยสร้างทอดยาวมาจนถึงตัวเมืองสงขลาที่บ้านบ่อยางจึงต้องหยุดใช้งานไป ? ผู้คนที่อาศัยอยู่สองข้างทางรถไฟมีความรู้สึกอย่างไร ? และเกิดผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร ? ทั้งหมดนี้คือคำถามที่คณะยุววิจัยต้องการหาคำตอบ ก่อนกลั่นกรองออกมาเป็นบทความที่ประกอบไปด้วย 5 ส่วน ดังนี้  

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. บริบททางสังคม
  3. เรื่องเล่าจากรถไฟ
  4. ยุครถไฟไป
  5. เหลือไว้เพียงร่องรอย

ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่รถไฟสายสงขลา-หาดใหญ่มีความสำคัญต่อคนสงขลาในฐานะยานพาหนะที่ดีที่สุดในการลำเลียงสินค้าอุปโภคบริโภคภายในจังหวัดและต่างจังหวัด รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซีย แต่เมื่อเริ่มมีการขนส่งทางรถยนต์ซึ่งสะดวกรวดเร็วมากกว่ามาแทนที่ก็ส่งผลให้เส้นทางรถไฟนี้หยุดการเดินรถอย่างถาวร

 

ย้อนรอยตลาดคลองแดน

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนคลองแดนวิทยา อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา

 

ในยุคที่ยังใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ในแม่น้ำลำคลองคราคร่ำไปด้วยเรือใหญ่น้อย เกิดย่านชุมชนและตลาดขึ้นในบริเวณที่เป็นจุดสบกันของลำน้ำสำคัญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการสัญจรทางน้ำ แต่เมื่อถนนหนทางเริ่มเข้ามา ชุมชนตลาดริมน้ำต่างๆ ที่เคยรุ่งเรืองในช่วงเวลาหนึ่งค่อยๆ โรยราลง ตลาดคลองแดนในอำเภอระโนดก็เป็นหนึ่งในนั้น ในบทความ “ย้อนรอยตลาดคลองแดน” แบ่งออกเป็น 6 ส่วนที่จะช่วยอธิบายให้เราเห็นภาพตลาดเก่าแก่แห่งนี้อย่างชัดเจนขึ้น

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. ข้อมูลพื้นฐานของชุมชนคลองแดน
  3. ตลาดคลองแดนยุครุ่งเรือง
  4. ตลาดคลองแดนยุคถดถอยและร่วงโรย
  5. ตลาดคลองแดนยุคฟื้นฟู
  6. สรุป

ตลาดคลองแดนมีทั้งช่วงเวลาที่หอมหวานและเงียบเหงา แต่เมื่อผู้คนเริ่มหวนคืนกลับสู่ท้องถิ่นและเริ่มสนใจเรื่องราวของบ้านตนเอง จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เพื่อฟื้นชีวิตชีวาให้กับชุมชนตลาดเก่าแห่งนี้

 

ข้าวแกงไก่ทอดเทพาข้างรถไฟ

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

 

ข้าวราดแกงเป็นอาหารที่รับประทานง่ายไม่ยุ่งยาก คนเทพาที่เคยเดินทางด้วยรถไฟคงจะคุ้นตากันดีกับภาพพ่อค้าแม่ค้ากระเดียดถาดหรือกระจาดใส่ข้าวราดแกงที่ใส่ไก่ทอดมายืนขายที่ช่องหน้าต่างรถไฟ เมื่อมีขบวนรถไฟมาจอดเทียบชานชาลาที่สถานีเทพาแห่งนี้ โดยทำการค้าขายกันมายาวนานจนกลายเป็นอาชีพประจำ ในบทความนี้คณะยุววิจัยได้นำวิถีชีวิตของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้มาถ่ายทอดให้ผู้อ่าน โดยแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. บริบทของพื้นที่ศึกษา
  3. รู้จักคนและข้าวแกงไก่ทอดเทพา
  4. ยุคหัวจักรไอน้ำอดีตถึง พ.ศ. 2518
  5. ยุคหัวรถจักรดีเซล พ.ศ 2518 ถึง 2547
  6. ข้าวแกงไก่ทอดเทพาช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน
  7. บทสรุป

ถึงแม้สภาพสังคมจะแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ยึดอาชีพขายข้าวราดแกงไก่ทอดที่สถานีเทพายังคงยืนหยัดในวิถีและสร้างตำนานของตนเองต่อไป

 

วิถีคนชายคลองระโนดในยุคสายน้ำ

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

 

ความน่าสนใจของคลองระโนดไม่ใช่แค่เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทะเลใน(ทะเลสาบสงขลา) กับทะเลนอก(อ่าวไทย) แต่ยังเป็นคลองแห่งชีวิต ทั้งบ้านเกิด ที่ทำมาหากิน และแหล่งพำนักพักใจของใครหลายคน  คณะยุววิจัยได้นำเอาประเด็นที่น่าสนใจของคนระโนดมาบอกเล่าผ่านบทความ โดยแบ่งออกเป็น 6 ตอน ดังนี้

  1. ความเป็นมาของงานวิจัย
  2. เบื้องต้นเกี่ยวกับระโนด
  3. คลองระโนดในยุคสายน้ำ (วิถีน้ำ) (จากอดีตถึงพ.ศ 2503)
  4. คลองระโนดในยุคถนน (จาก พ.ศ 2504 ถึงปัจจุบัน)
  5. บทสรุป

คลองระโนดเคยเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำนา ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญทางตอนเหนือสุดของจังหวัดสงขลา

 

มะนังจากยุคบ้านป่าถึงยุคสมัยใหม่

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนปาล์มพัฒนวิทยา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล

 

มะนังเป็นชุมชนเล็กๆที่ เกิดขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีก่อน จนปัจจุบันเติบใหญ่กลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสตูล ก่อนความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งอำเภอนี้จะเลือนหายไปพร้อมกับคนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือน คณะยุววิจัยจึงออกค้นหา สำรวจ และร่วมกันบันทึกความทรงจำนี้เอาไว้ โดยในบทความแบ่งออกเป็น 6 ตอน ดังนี้

  1. บทนำ (ที่มาของงานวิจัย)
  2. บริบทพื้นที่ศึกษา
  3. มะนังยุคบ้านป่า (ก่อนทศวรรษ 2510)
  4. มะนังยุคคนหลากถิ่น (ทศวรรษ 2510 ถึง 2530)
  5. มะนังยุคการท่องเที่ยว (พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน )
  6. สรุป

พัฒนาการของชุมชนมะนังจากอดีตถึงปัจจุบันใน 3 ช่วงเวลา สะท้อนถึงการเจริญเติบโตของอำเภอแห่งนี้ ตลอดจนผู้คนหลากหลายถิ่นที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนแห่งนี้

 

สามล้อและคนถีบสามล้อในตลาดพิมาน

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนบ้านไทรงาม อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

 

ครึ่งทศวรรษก่อนเกือบทุกย่านตลาด มักจะเห็นกลุ่มสามล้อถีบจอดเรียงรายรอรับบริการรับ-ส่งผู้คนอยู่ตลอดทั้งวัน คล้ายกับวินมอเตอร์ไซค์ที่มีอยู่ทุกมุมเมืองอย่างเดี๋ยวนี้ อย่างไรก็ดี เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการโดยสารด้วยสามล้อถีบ กลุ่มยุววิจัยคณะนี้จึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาและนำเสนอเป็นบทความเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับสามล้อถีบและเหล่าสารถีสามล้อในมิติต่างๆ โดยแบ่งเป็น 5 ตอน ดังนี้

  1. บทนำ (ที่มาของงานวิจัย)
  2. เล่าเรื่องเมืองสตูลและชุมชนตลาดพิมาน
  3. ยุคใครใครก็นึกถึงสามล้อ
  4. ยุคใครใครอยู่ใกล้ๆ ก็เมินหน้าหนีสามล้อ
  5. สรุป : ฤาสามล้อต้องปิดฉาก

บทชีวิตทั้ง 5 ตอนนี้ ทำให้เรารู้จักสามล้อในฐานะองค์ประกอบสำคัญของสังคมมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะกลายเป็นเพียงภาพประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือนไป ไม่มีใครบอกเล่า...

 

ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ในหอสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (https://koha.library.tu.ac.th/punsarn/opac/main/) สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร (http://www.l.su.ac.th/) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ (http://www.lib.tsu.ac.th/) เป็นต้น

 

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ