[Chapter 3]
The Second destination, I am coming…
จาก “มาดาบา” มุ่งสู่ “เปตรา”
ทะเลเดดซี ฝั่งตรงข้ามคือดินแดนอิสราเอล
จากเมืองมาดาบา (Madaba) ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 65 ระยะทางราว 200 กิโลเมตร เลาะริมฝั่งทะเลเดดซีมาเรื่อยๆ จนถึงจุดปลายสุดของทะเลเดดซี นอกจากเป็นเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลที่มีทิวทัศน์สวยงามแล้ว ยังได้เห็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศจอร์แดนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่โปแตช (Potash) ฟอสเฟต (Phosphate) ตลอดจนโรงงานประเภทอื่นๆ และนาเกลือที่มีให้เห็นตลอดเส้นทาง
เมื่อถึงรอยต่อของเมืองเครัก (Kerak) กับเมืองอัท ตาฟิละห์ (At-Tafilah) เราจึงเปลี่ยนเส้นทางเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 60 ที่เรียกกันว่า King Road หรือในชื่อทางการว่า At-Tafilah Highway จากนั้นเข้าสู่ทางหลวงสาย 35 เป็นเส้นทางที่พาเราข้ามจากฟากตะวันตกของประเทศจอร์แดนเข้าสู่ดินแดนที่ราบสูงและเขาสูงที่อยู่ทางตอนกลางของประเทศจอร์แดน
ทางหลวงสาย 65 จากเมืองมาดาบา ไปสู่เมืองวาดิ มูซา อันเป็นที่ตั้งของนครเปตรา
อาณาบริเวณนี้ทอดตัวตั้งแต่เมืองอุมไกวซ์ (Umm Qais) ที่อยู่ทางตอนเหนือจนถึงเมือง Ras an-Naqab ถือเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ในจอร์แดน ตลอดเส้นทางเราจะผ่าน “Wadi” ที่สำคัญหลายแห่ง คำว่า “Wadi” แปลว่า ร่องน้ำที่เกิดขึ้นระหว่างหุบเขา ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีน้ำไหลตลอดทั้งปีก็ได้ น้ำส่วนใหญ่จะมาจากน้ำฝนมากกว่าแหล่งน้ำที่มาจากทางเหนือหรือภูเขาสูง เพราะดินแดนของจอร์แดนส่วนใหญ่เป็นเขตทะเลทรายเกือบทั้งหมด แหล่งน้ำส่วนใหญ่หากไม่ใช่โอเอซิส (Oasis) ก็จะเป็น Wadi เหล่านี้
ตลอดความยาวกว่า 90 กิโลเมตรของทางหลวงสาย 65 ฟากหนึ่งเป็นภูเขาสูงชัน ส่วนอีกฟากเป็นทะเลเดดซี
ในประเทศจอร์แดนมีแม่น้ำเพียงสายเดียวเท่านั้น คือ แม่น้ำจอร์แดน เกิดจาก Wadi สายต่างๆ ที่อยู่ตามหุบเขาไหลลงมาสมทบกันจนเกิดเป็นแม่น้ำ ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลเดดซี อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนในประเทศจอร์แดนมีไม่มากนัก ใน 1 ปี อาจมีฝนตกลงมาประมาณ 3-4 ครั้งเท่านั้น หากวันไหนที่ฝนตก คนจอร์แดนจะดีใจมาก แต่อาจไม่ใช่นิมิตหมายที่ดีนักสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีจุดหมายปลายทางที่เมืองเปตรา (Petra) นครโบราณกลางทะเลทราย เพราะนักท่องเที่ยวจะไม่สามารถเข้าไปยังภายในเมืองเปตราได้ หากฝนตกในปริมาณมาก น้ำอาจจะหลากเข้าท่วมเส้นทางที่ใช้เดินเข้าไป ซึ่งกระแสน้ำมีความรุนแรงมากจนเป็นอันตรายได้
King Road หรือทางหลวงหมายเลข 60 ตัดผ่านเทือกเขาสูงที่กั้นระหว่างจอร์แดนตะวันตกและตะวันออก
เป็นถนนที่กษัตริย์จอร์แดนองค์ปัจจุบันมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อความสะดวกในการเดินทางจากฝั่งทะเดดซี ข้ามสู่เขตทะเลทรายวาดิ รัม
เมืองเปตราเป็นแหล่งโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ Wadi แห่งหนึ่ง บริเวณนี้เรียกกันว่า วาดิ รัม (The Wadi Rum) หรือหุบเขาแห่งพระจันทร์ (The Valley of the Moon) จุดสูงสุดของพื้นที่นี้กล่าวกันว่ามีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 1,770 เมตร นอกจากนี้ The Wadi Rum ถือเป็นเขต Wadi ที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศจอร์แดน เพราะมีอาณาบริเวณตั้งแต่ทางตอนใต้ของจอร์แดนถึงเมืองเปตราและเมืองอควาบา (Aqaba) ไปจนถึงดินแดนซาอุดิอาระเบีย ถัดจากเมืองเปตราไปทางตะวันออกเรียกว่า เขตทะเลทรายตะวันออกของภูมิภาคบาร์เดีย (The Eastern Desert or Badia Region)
ทางเข้าหลักของเมืองเปตราอยู่ที่เมือง วาดิ มูซา (Wadi Musa) หรือหุบเขาแห่งโมเสส (Valley of Moses) เหตุที่เมืองนี้ได้ชื่อว่า “หุบเขาแห่งโมเสส” เพราะมีเรื่องเล่าว่า เมืองนี้เป็นเส้นทางที่โมเสสเดินทางผ่านเพื่อจะลงไปยังทะเลแดงและข้ามไปยังคานาอัน (Canaan) ซึ่งก็คือบริเวณดินแดนปาเลสไตน์ในปัจจุบัน เชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้ามอบให้อับราฮัมและลูกหลาน ดังปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม (Old Testament)
ณ วาดิ มูซา แห่งนี้ มีสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาถึงของโมเสส คือ น้ำพุแห่งโมเสส เชื่อกันว่าเมื่อโมเสสนำพาชาวอิสราเอลเดินทางมาถึงบริเวณนี้ ด้วยความแห้งแล้งของพื้นที่ ทำให้กองคาราวานที่ตามมากำลังจะขาดน้ำตาย โมเสสจึงนำไม้เท้าที่พระเจ้าประทานให้กระทุ้งลงพื้นดินเกิดเป็นน้ำพุพวยพุ่งขึ้นมา แต่ด้วยการกระทุ้งครั้งแรกยังไม่มีน้ำไหลออกมาทันที โมเสสจึงใช้ไม้เท้ากระทุ้งลงอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้พระเจ้าไม่พอใจเพราะเข้าใจว่าโมเสสไม่ได้มีความศรัทธาอย่างแท้จริง จึงลงโทษไม่ให้โมเสสเข้าไปยังดินแดนคานาอัน เมื่อโมเสสนำพาคนอิสราเอลไปถึงยังดินแดนคานาอันได้แล้วนั้น จึงทำได้เพียงมองดูดินแดนคานาอันโดยไม่มีสิทธิ์เข้าไปอยู่อาศัย ในพระคัมภีร์บันทึกว่าโมเสสได้ตายลงก่อนที่จะข้ามไปยังดินแดนคานาอัน อย่างไรก็ตาม เมืองเปตราที่กำลังจะไปเยี่ยมชม ไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโมเสส แต่มีสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ใกล้เคียงมากกว่า เช่น ทะเลแดง ทะเลเดดซี และดินแดนปาเลสไตน์
เปตราเป็นเมืองโบราณที่เกิดขึ้นเมื่อราวๆ 1,000 ปี ก่อนคริสตกาล ครั้งหนึ่งเมืองเปตราเคยสาบสูญไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย กลุ่มชนเผ่าที่สร้างเมืองเปตรา คือ ชาวนาบาเทียน (Nabataeans) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณภูเขาสูงของวาดิ รัม โดยตั้งที่อยู่อาศัยตามที่ลาดเชิงเขา หรือที่ราบระหว่างหุบเขาซึ่งมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ แหล่งน้ำใต้ดินและร่องน้ำตามหุบเขาที่รองรับน้ำฝน ซึ่งเป็นโอเอซิสท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง
เมืองเปตราปรากฏสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1812 โดย โยฮันน์ ลุควิก บวร์กฮาร์ท (Johann Ludwig Burckhardt) นักสำรวชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่ใช้เส้นทางผ่าน Wadi Musa เพื่อเดินทางจากจอร์แดนไปยังอียิปต์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีชาวตะวันตกได้เห็นเส้นทางนี้ และได้พบกับแหล่งอารยธรรมโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ภายในหุบเขา แต่คนท้องถิ่นยังไม่อนุญาตให้เขาเข้าไปสำรวจ จากบันทึกของโยฮันน์ ลุควิก บวร์กฮาร์ท ทำให้ต่อมาในปี ค.ศ. 1826 ลีออง เดอ ลาบอร์ด (Leon de Laborde) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้เดินทางเข้าไปสำรวจภายในเมืองเปตรา และเขียนหนังสือเป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อว่า “Voyage de l'Arabie Pétrée" แปลว่า การเดินทางในเปตราแห่งอาหรับ ซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่ลาบอร์ดเดินทางไปสำรวจเปตราถึง 4 ปี หลังจากนั้นมาเมืองเปตราก็ได้รับความสนใจจากนักสำรวจและนักโบราณคดี เกิดการค้นพบอาคารสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่มีความวิจิตรงดงามของลวดลายสลักซึ่งประดับอยู่บนผนังและห้องโถงต่างๆ รวมถึงระบบชลประทานของเมืองโบราณที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาแห่งนี้
ทิวทัศน์สองข้างทางของถนนสาย King Road ซึ่งตัดข้ามเทือกเขาที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร
ระยะทางจากเมืองมาดาบาถึงวาดิ มูซา รวมแล้วประมาณ 200 กิโลเมตรเศษ แต่ด้วยความไม่คุ้นชินกับสภาพภูมิประเทศและเส้นทางที่บางช่วงต้องขับรถขึ้นภูเขาที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร ประกอบกับถนนมีเพียง 2 เลนเท่านั้น ระยะเวลาการเดินทางของเราจึงต้องทวีคูณจากเวลาการเดินทางของคนท้องถิ่นที่ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง เป็น 4 ชั่วโมง
ทิวทัศน์สองข้างทางของถนนสาย King Road
เส้นทางขึ้นภูเขาสูงจะลัดเลาะไปตามเขาสูงที่เป็นเขาโล้นๆ จะหาต้นไม้สักต้นก็ยากเหลือเกิน แต่กระนั้นก็เป็นทัศนียภาพที่ดูแปลกตาสำหรับคนไทยอย่างเรา ตลอดเส้นทางจะเห็นคนขับรถท้องถิ่นมีความชำนาญเส้นทางกันมาก เพราะสามารถขับรถหลบหลีกกันได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ส่วนรถของผู้เขียนที่มีแต่สาวๆ ไม่ชินเส้นทาง จึงเหมือนเต่าคลานที่ค่อยๆ ไปอย่างช้าๆ ขวางทางชาวบ้านอยู่พอสมควร แต่คนขับรถส่วนใหญ่พอขับเข้ามาใกล้ๆ แล้วเห็นว่าเป็นผู้หญิงขับก็ค่อนข้างปราณีอยู่บ้าง แม้ว่าจะมีบางคนที่บีบแตรหรือทำมือไม้แซว แต่ไม่ได้น่ากลัวอันใด
เราออกจากเมืองมาดาบาราว 8.30 น. ถึงเมืองวาดิ มูซา ประมาณ 13.30 น. เลยเวลาอาหารเที่ยงไปแล้ว หลังจากเช็คอินโรงแรมและเจรจาเรื่องอาหารเช้าที่จะนำไปรับประทานกันในเมืองเปตราเรียบร้อยแล้ว จึงออกไปหามื้อเที่ยงรับประทานกันที่ใกล้ๆ กับที่พัก เนื่องจากเราตกลงกันว่าจะใช้เวลาที่เปตราถึง 2 วัน และต้องใช้กำลังในการเดินมากหน่อย เพราะตัดสินใจว่าจะไม่เช่ารถม้าหรือขี่ม้า แต่จะเดินท่ามกลางเปลวแดดเพื่อออกกำลังกายกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงเลือกเมนูอาหารที่เต็มไปด้วยพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นข้าวจานใหญ่ที่มาพร้อมไก่ชิ้นโตและผักนานาชนิด รสชาติอาหารพื้นถิ่นที่นี่มีความแตกต่างจากอาหารไทยอยู่มาก และไม่ค่อยถูกปากคนไทยเท่าไรนัก แต่ด้วยมีน้ำจิ้มสไตล์แขกที่มีรสชาติจัดจ้านของเครื่องเทศ เป็นตัวช่วยที่ทำให้เจริญอาหารได้ นอกจากนี้ขอแนะนำให้สั่ง ชามินต์ร้อน มาดื่มตบท้ายมื้ออาหาร จะช่วยให้หายเลี่ยนจากอาหารมันๆ ไปได้มากทีเดียว
สลัดแบบอาหรับมีแตงกวา มะเขือเทศ หอมแดง ปลาหมึกและแป้งทอดชิ้นเล็กๆ คลุกเคล้ากับน้ำสลัดแบบจอร์แดนรสชาติออกเปรี้ยว
"Hummus" ทำมาจากถั่วลูกไก่ (chick pea) นำมาบด ผสมกับทาฮีนี (tahini) หรืองาบด น้ำมันมะกอก น้ำมะนาว เกลือ และกระเทียม
โรยหน้าด้วยพาร์สลีย์สับละเอียด นิยมรับประทานคู่กับแผ่นแป้งพิต้า (Pita Bread) ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและเหมาะสำหรับผู้หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์
มันฝรั่งทอด ไก่ย่าง และน้ำจิ้มรสเด็ด อาหารจานด่วนที่น่าจะถูกปากใครหลายคน
“Mansaf” หรือข้าวหมก รับประทานกับเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น ไก่ แกะ แพะ วัว
การเดินทางสู่นครเปตราจะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตาม “ ‘เปตรา’ นคร (ที่เคย) ร้างกลางทะเลทรายอาหรับ” ตอน “มุ่งเข้าสู่หุบเขาแห่งนครศิลาสีชมพู” ในคอลัมน์ “เที่ยวแบบวารสาร” เร็วๆ นี้