เงาคน-บนเวลา และปฏิมาการ
หนังสือหนังหา

เงาคน-บนเวลา และปฏิมาการ

 

“บทบันทึกจากที่ราบลุ่มภาคกลาง ผ่านแง่คิด มุมมองของนักเขียนอาวุโสคนสำคัญของไทย”

 

คำโปรยบนปกหนังสือขนาดเล่มกะทัดรัดเรื่อง "เงาคน-บนเวลา และปฏิมาการ" ของ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2533 ผู้เป็นเจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่โลดแล่นอยู่ในวงการวรรณกรรมไทยมาอย่างยาวนาน ชวนให้พลิกเปิดสำรวจดูเนื้อหาภายในเล่มว่าเรื่องเล่าจากที่ราบลุ่มภาคกลางประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อเปิดหน้าสารบัญและกวาดสายตามองหัวเรื่องแต่ละบท พบว่ามีหลายเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเมืองสมุทรปราการในวันวาน อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้แต่งที่มีพื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอบางบ่อ

 

หนังสือ เงาคน-บนเวลา และปฏิมาการ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

 

นวนิยายเรื่อง ปีศาจ (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500) เป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องและกล่าวถึงมากที่สุดของเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้ใช้เมืองสมุทรปราการเป็นฉากหลักของเรื่อง สำหรับผู้อ่านในยุคสมัยนี้ นอกจากเนื้อหาอันเข้มข้นที่สะท้อนภาพสังคมระหว่างชนชั้นนายทุนกับชาวบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบแล้ว ยังจะได้เห็นภาพของเมืองสมุทรปราการเมื่อหลายสิบปีก่อน ทั้งสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คน ที่ถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์และความทรงจำของผู้แต่งสอดแทรกกลมกลืนอยู่ภายในเนื้อเรื่อง (ดูเพิ่มเติมใน นิธิอร พรอำไพสกุล, “สมุทรปราการในนวนิยายเรื่องปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์” ใน เมืองโบราณ ปีที่ 36 ฉบับที่ 2  (เมษายน-มิถุนายน 2553), หน้า 125-129)

 

ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ หรือเสนีย์ เสาวพงศ์ บนหน้าปกนิตยสาร Writer ฉบับที่ 31

 

 

นวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ฉบับพิมพ์ปีต่าง ๆ

 

"เงาคน-บนเวลา และปฏิมาการ" เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ถ่ายทอดความทรงจำที่มีต่อท้องถิ่นของผู้แต่งออกมาเป็นตัวอักษร ทว่าไม่ได้เป็นการสอดแทรกในฐานะฉากหลักของนวนิยาย หากแต่ถูกเรียงร้อยเป็นบทบันทึกความทรงจำในช่วงชีวิตวัยเด็กที่บอกเล่าถึงสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นแถบอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งแทบไม่หลงเหลือสภาพแบบดั้งเดิมแล้วในปัจจุบัน ภายในเล่มบรรจุด้วยบทความขนาดสั้นจำนวน ๒๗ เรื่อง ซึ่งทั้งหมดเคยตีพิมพ์เป็นตอน ลงในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์เมื่อปี พ.ศ. 2548 แต่ละบทมีเนื้อหาที่หลากหลาย สามารถจำแนกเป็นหมวดหมู่เรื่องได้ดังนี้

 

ลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ระบบนิเวศทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของจังหวัดสมุทรปราการทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดต่างๆ  ตลอดจนแม่น้ำลำคลองสายสำคัญที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในอดีต ผู้อ่านจะได้เห็นความสำคัญของแม่น้ำลำคลองเมื่อครั้งที่บ้านเมืองยังเป็น “เมืองน้ำ” ที่ผู้คนยังพึ่งพาลำน้ำธรรมชาติ ทั้งการดื่มกิน เป็นแหล่งอาหาร และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก คลองสำคัญที่ถูกกล่าวถึงภายในเล่มคือ คลองสำโรง  ในอดีตสองฝั่งคลองเป็นพื้นที่ทำนา ทำสวน และบ่อปลา นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการใช้ชีวิตในช่วงฤดูน้ำหลากและการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น การเตรียมรับมือกับพายุ การเกิดพายุงวงช้าง ลมสลาตัน เป็นต้น

 

ชื่อบ้านนามเมือง เช่น ความเป็นมาของชื่อ ตำบลบางเหี้ย ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อภายหลังเป็นตำบลคลองด่าน  หรือความเป็นมาของชื่อ บ้านหัวตะเข้ หรือ ศีรษะจระเข้ ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องศาลศีรษะจระเข้  เป็นต้น

 

วิถีชีวิตของผู้คน มีทั้งเรื่องการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของครอบครัวของผู้แต่ง การทำบ่อปลาสลิดของอำเภอบางบ่อที่เดิมเป็นการเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ โดยพันธุ์ปลาต่างๆ จะนำมาจากคลองธรรมชาติทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องความเป็นอยู่ของคนในอดีต เช่น เชี่ยนหมาก การต่อเรือ อาหารการกิน  มหรสพ ยี่เก ลำตัด ประเพณีและความเชื่อ เช่น การเข้าทรงแม่ศรีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่บางบ่อ ประเพณีทอดกฐิน  พระเกจิอาจารย์ ความเชื่อเรื่องสัตว์อัปมงคล เป็นต้น 

 

“ระหัดวิดน้ำ” ภาพลายเส้นประกอบภายในเล่ม วาดโดย ธนพล ไชยช่วย 

 

ผู้แต่งยังค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมจากบันทึกเอกสารและวรรณคดีไทย เช่น นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่  โคลงนิราศฉะเชิงเทราของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน  รวมไปถึงเพลงพื้นบ้าน  เพื่อนำมาเทียบเคียงกับภาพความทรงจำของตนเอง หรือค้นหาที่มาของชื่อบ้านนามเมือง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของบ้านเมืองและสังคมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

ด้วยเหตุนี้ หนังสือรวมบทความเรื่อง เงาคน-บนเวลา และปฏิมาการ จึงถือว่าเป็นข้อเขียนที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสมุทรปราการที่ถูกพัฒนาจนกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในปัจจุบัน  อีกทั้งการบอกเล่าผ่านปลายปากกาของเสนีย์ เสาวพงศ์ ยิ่งเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่า นอกจากการถ่ายทอดเรื่องราวที่ผ่านการสังเกต จดจำ และค้นคว้ามาอย่างละเอียดลออแล้ว สำนวนการเขียนยังมีความสละสลวย ลื่นไหล จนผู้อ่านวางไม่ลง  และอาจจุดประกายให้ผู้อ่านเริ่มต้นบันทึกเรื่องราวในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์สังคมของคนรุ่นเราด้วยก็ได้   


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ