สยามคือบ้านของเรา
หนังสือหนังหา

สยามคือบ้านของเรา

  

มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ภายหลังจากที่คริสตจักรเพรสไบทีเรียนในอเมริกาจัดตั้งคณะกรรมการแผนกต่างประเทศขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2380 (ค.ศ. 1837) แล้วได้จัดส่งคณะมิชชันนารีมายังสยามตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) นอกจากภารกิจด้านการเผยแผ่ศาสนา ยังมีบทบาทสำคัญทางด้านการแพทย์และการศึกษาแบบตะวันตกอีกด้วย

 

เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ (Edna Bruner Bulkley) เป็นมิชชันนารีสาวชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามายังสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) ซึ่งตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ 5 การตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังดินแดนตะวันออกไกล ถือเป็นความกล้าหาญของหญิงสาวที่มีอายุเพียง 20 ปี และอาจเป็นลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเธอได้ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวและใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินสยาม สืบเนื่องมาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 

 

เรื่องราวความทรงจำของเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ เกือบจะเลือนหายไปพร้อมกับการจากไปของเธอเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) จนกระทั่งหลังจากนั้นราว 30 ปี ลูกๆ ของเธอพบหีบใบเก่าที่เก็บสมุดบันทึกของแม่เอาไว้ ภายในเล่มเขียนบอกเล่าการเริ่มต้นชีวิตในประเทศสยาม ดินแดนที่แม่ของพวกเขาเรียกว่า “บ้าน”

 

แมรี่ บัลค์ลีย์ สแตนตัน (Marry Bulkley Stanton) ลูกสาวคนที่ 6 ได้หยิบสมุดบันทึกเล่มเก่าแก่ของแม่มาปัดฝุ่น เรียบเรียงและจัดพิมพ์ใหม่ แรกเริ่มทำแจกเฉพาะในหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนสนิท ก่อนรวมเล่มพิมพ์จำหน่ายเป็นหนังสือชื่อ “Siam Was Our Home : A Narrative Memoir of Edna Bruner Bulkley's Years in Thailand in the Early 1900's”  โดยได้เพิ่มเติมเรื่องราวอื่นๆ ที่พบในจดหมาย กระดาษโน้ต ภาพถ่าย และจากความทรงจำของเหล่าพี่น้องบัลค์ลีย์

 

ด้วยบทบาทสำคัญของมิชชันนารีสาวคนนี้ที่เข้ามาเป็นครูประจำ “โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง” โรงเรียนสำหรับเด็กหญิงที่ก่อตั้งขึ้นโดยมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ “โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย” ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เหตุนี้คณะศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย รุ่น 100 จึงเลือกหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์บอกเล่าของมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนในประเทศไทย และเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่โรงเรียน จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยคงชื่อตามต้นฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “สยามคือบ้านของเรา” 

 

ปก "Siam Was Our Home" ฉบับแปลไทย พิมพ์ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณแม่ประดับ ฤทธาคนี 

 

ในฐานะนักอ่านที่มีโอกาสได้หยิบจับหนังสือเล่มนี้อยู่บ่อยครั้ง น่าสนใจว่าระหว่างการ อ่านเอาเรื่อง เพื่อเก็บตกประวัติศาสตร์ สภาพบ้านเมือง และวิถีชีวิตผู้คน เมื่อ 100 กว่าปีก่อนในมุมมองของชาวตะวันตกสมัยนั้น ขณะเดียวกันสำนวนการเล่าเรื่องก็ชวนให้เพลิดเพลินจนวางไม่ลง แม้เรื่องเล่าของเจ้าของความทรงจำจะไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โต หากแต่เป็นเพียงภาพในชีวิตประจำวันที่อาจเป็นเรื่องสุดแสนธรรมดาในเวลานั้น แต่เมื่อถูกนำมาบอกเล่าผ่านสายตาและอารมณ์ความรู้สึกของหญิงสาวจากแดนไกลที่รักการผจญภัย ย่อมมีสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงชีวิต

 

มิสบรูเนอร์ออกเดินทางมายังสยามในปี พ.ศ. 2446 ขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น การเดินทางเริ่มต้นที่ซานฟรานซิสโก ตัวเธอและมิชชันนารีคู่สามีภรรยาอีก 2 คน โดยสารมากับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ รอนแรมข้ามมหาสมุทรมาสู่ดินแดนตะวันออกไกล เรือมาจอดแวะพักที่ท่าเรือเมืองซัวเถา ประเทศจีน เพื่อรับแรงงานชาวจีนอีกนับ 1,000 ชีวิต ที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศสยามเหมือนกัน 

 

มิสบรูเนอร์ระหว่างการเดินทาง ภาพในหนังสือ Siam Was Our Home 

 

การเดินทางจากซานฟรานซิสโกกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ นั้น ใช้เวลาราว 60 วัน แม้เป็นการเดินทางที่ไม่สะดวกสบายนัก แต่เป็นความทรงจำที่ยากจะลืม จากท่าเรือซัวเถามิสบรูเนอร์บันทึกถึงสภาพการเดินทางร่วมกับแรงงานชาวจีนที่แออัดยัดเยียดอยู่บนเรือ ทุกชีวิตต่างบ่ายหน้าไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกัน เป็นการเดินทางไกลที่ไม่อาจหวนกลับ เมื่อเข้าสู่อาณาเขตประเทศสยาม เรือมุ่งหน้าผ่านปากน้ำอ่าวไทยเข้าสู่ลำน้ำเจ้าพระยา จากภูมิทัศน์ที่เป็นป่าชายเลนที่ปากอ่าว เริ่มเปลี่ยนเป็นย่านชุมชนที่หนาแน่นมากขึ้นเมื่อขยับเข้าใกล้ใจกลางพระนคร

 

มิสบรูเนอร์เริ่มต้นเส้นทางชีวิตในสยามด้วยการเป็นครูประจำที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง  ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีที่ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังหลัง ใกล้โรงพยาบาลศิริราช เมื่อแรกก่อตั้งมีนางแฮเรียต เอ็ม. เฮาส์ (Mrs. Harriet  M. House) เป็นครูใหญ่

 

“โรงเรียนประจำสตรีของมิสซิสแฮเรียต เฮาส์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า โรงเรียนวังหลัง เป็นโรงเรียนที่มีรายชื่อคนมารอเข้าเรียนยาวเป็นหางว่าว และไม่เคยมีเตียงว่างเลยสักเตียงเดียว เพราะที่นี่มีชื่อเสียงมากในเรื่องของการฝึกระเบียบวินัยและบุคลิกภาพแก่นักเรียน นอกจากนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ ที่นี่เป็นโรงเรียนหญิงแห่งเดียวในสยามที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดใช้สำหรับโรงเรียนชาย”

 

โรงเรียนกุลสตรีวังหลังเน้นการเรียนการสอนเขียนอ่าน จริยธรรมในศาสนาคริสต์ และวิชาสำหรับกุลสตรี เช่น การเย็บปักถักร้อย ในช่วงที่มิสบรูเนอร์เข้ามาเป็นครูคนใหม่ ผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ คือ “แหม่มโคล” หรือ เอ็ดน่า เอส. โคล  (Edna S. Kole)

 

มิสบรูเนอร์เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2446 - 2449 ในบันทึกช่วงนี้จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งสภาพแวดล้อม บรรยากาศการเรียนการสอน ชีวิตครูและนักเรียนในโรงเรียนประจำสมัยรัชกาลที่ 5 รวมถึงการปรับตัวของครูคนใหม่จากแดนไกลที่ยังไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรม ทั้งยังต้องรับมือกับบรรดาเด็กๆ ในโรงเรียน บ้างเป็นลูกหลานขุนนางหรือพ่อค้าคหบดี นอกจากนี้ยังมีเด็กๆ ลูกครึ่งชาวสยามกับชาวตะวันตก ซึ่งในทัศนะของเธอนั้นเห็นว่าเด็กลูกครึ่งถูกเลือกปฏิบัติ

 

“ในช่วงที่ฉันอยู่โรงเรียนวังหลัง ที่นั่นมีเด็กลูกครึ่งยุโรปเอเชียอยู่สิบสองคน และฉันก็ต้องคอยเป็นกังวลกับปัญหาหลายๆ อย่างของพวกเขา เด็กเหล่านี้แตกต่างจากมารดาชาวสยามทั้งรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ สุ้มเสียง กิริยาท่าทาง และการแต่งตัว แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ถูกห่างเหินและถูกกีดกันจากผู้คนเชื้อชาติเดียวกับบิดาอย่างเห็นได้ชัด”

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่พำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ นอกจากภารกิจในโรงเรียน มิสบรูเนอร์ยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ และเที่ยวชมงานสมโภชและประเพณี เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค ประเพณีลอยกระทง พิธีโกนจุก การคล้องช้างที่เพนียดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมด เธอบันทึกไว้อย่างตื่นตาตื่นใจ ดังเช่นตอนหนึ่งที่เขียนถึงย่านตลาดสำเพ็งไว้ว่า 

 

"... ทันทีที่เข้าไปในเขตกำแพงเมืองเก่า ก็เจอถิ่นของพวกแขกฮินดู มีคนกล่าวว่าที่นี่ดูเหมือนตรอกซอกซอยบางแห่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เริ่มด้วยตลาดดอกไม้ที่น่ารักบนสะพานกว้าง... จากที่นี่เราเดินลึกเข้าไปในตรอกที่ยาวเป็นไมล์และค่อนข้างสกปรก ทั้งแคบทั้งมืด ประกอบกับที่เขาขึงผ้าป่านเนื้อหยาบไว้บังแดดด้านบน ทำให้แสงแดดที่ส่องเข้ามาลดลงไปกว่าครึ่ง เราเดินเข้าเดินออกร้านค้าขนาดใหญ่ของคนจีน ซึ่งเต็มไปด้วยผ้าไหมแสนสวยไม่รู้กี่ม้วนต่อกี่ม้วน สวยกว่าที่เราเคยเห็นในอเมริกาเสียอีก"  

 

กระทั่งปี พ.ศ. 2449 มิสบรูเนอร์ได้ย้ายไปเป็นครูประจำอยู่ที่หน่วยมิชชันนารีจังหวัดเพชรบุรี  โรงเรียนที่เธอดูแลอยู่นั้น เดิมคือโรงเรียนสตรีฝึกหัดทำการ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2408 ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 จึงแบ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ชายชื่อว่า โรงเรียนประดิษฐ์วิทยา และโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงชื่อว่า โรงเรียนอรุณสตรี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงรวมกันเป็นโรงเรียนสหศึกษา และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ สืบมาถึงปัจจุบัน

 

 มิสเอ็ดน่า บรูเนอร์ พ.ศ. 2449 บริเวณหน่วยมิชชั่นนารีเมืองเพชรบุรี ที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนอรุณสตรี

(ที่มา : Facebook อรุณประดิษฐ์ เพชรบุรี)  

 

แม้เพชรบุรีจะเป็นหัวเมืองสำคัญ แต่บรรยากาศและชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากกรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม มิสบรูเนอร์สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยอุปนิสัยชอบการท่องเที่ยวและเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่เส้นทางชีวิตในสยามของมิสบรูเนอร์ไม่ได้สิ้นสุดลงแค่ที่นี่ หลังจากที่เธอตัดสินใจแต่งงานกับนายแพทย์ลูเซียส คอนสแตนท์ บัลค์ลีย์ (Dr. Lucius Constant Bulkley) เมื่อ พ.ศ. 2452 จึงต้องโยกย้ายที่อยู่ตามสามี ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลทับเที่ยง เมืองตรัง มณฑลภูเก็ต

 

นายแพทย์ลูเซียส คอนสแตนท์ บัลค์ลีย์ และเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ ภาพในหนังสือ Siam Was Our Home 

 

โรงพยาบาลทับเที่ยง ก่อตั้งขึ้นโดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้มอบเงินให้นายแพทย์ยูจีน พี. ดันลอป (Dr. Gugene P. Dunlop) สร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนตะวันตกขึ้น หมอบัลค์ลีย์เริ่มทำงานกับหมอดันลอปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451

 

ช่วงชีวิตที่ทับเที่ยงของมิสซิสเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์  นอกจากสามีแล้ว ในขณะนั้นเธอยังมีลูกอีก 4 คน ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในคาบสมุทรภาคใต้ การผจญภัยเข้าป่าหรือออกสู่ท้องทะเล กลายเป็นเรื่องธรรมดาในวันพักร้อนของครอบครัวบัลค์ลีย์ เด็กๆ ถูกฝึกให้คุ้นชินกับผู้คนและสัตว์ในท้องถิ่น ส่วนตัวของมิสซิสบัลค์ลีย์เองก็มีความสนใจในกลุ่มชาติพันธุ์ที่พบเจอ และได้เขียนบันทึกไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น เรื่องราวของชนเผ่าเซมังและพวกยิปซีแห่งท้องทะเล ซึ่งน่าจะหมายถึงชาวมอแกน

 

กระทั่งปี พ.ศ. 2477 ด้วยผลกระทบจากภาวะเศรษฐตกต่ำทั่วโลก การส่งลูกทุกคนไปเรียนที่ประเทศอินเดียจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก มิสซิสเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์จึงตัดสินใจพาลูกทั้ง 4 คน กลับไปยังสหรัฐอเมริกา จากนั้นอีก 2 ปี หมอบัลค์ลีย์จึงตามกลับไปด้วย แต่อยู่พร้อมหน้ากันได้ไม่นาน ท่านก็ตัดสินใจกลับมาประจำการอยู่ที่โรงพยาบาลทับเที่ยงเช่นเดิม จนกระทั่งถูกจับเป็นเชลยและถูกคุมขังในค่ายกักกันของญี่ปุ่น นับตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2484 ก่อนจะถูกส่งกลับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2485 และใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ตราบจนสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2492

 

ส่วนมิสซิสเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง ไม่ใช่ในฐานะมิชชันนารี แต่เป็นเจ้าของ โรงแรมฟ้าอร่าม  สถานที่พักตากอากาศท่ามกลางป่าเขาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ปรับปรุงมาจากบ้านของนักธุรกิจชาวจีนที่สร้างไว้สำหรับหลบภัยสงคราม

 

เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ ในช่วงบั้นปลาย ภาพในหนังสือ Siam Was Our Home 

 

ในวัยเกือบ 70 ปี เธอยังคงหลงใหลการเดินทางผจญภัย ในบทส่งท้ายของหนังสือ “Siam Was Our Home” แมรี่ บัลค์ลีย์ สแตนตัน และดไวท์ บัลค์ลีย์ ลูกสาวและลูกชายได้เขียนบทความสั้นๆ ตอน “คุณยายในป่าใหญ่” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตช่วงบั้นปลายของแม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่น่าเสียดาย เส้นทางชีวิตที่ผูกพันกับสยามเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2493 หลังจากตรวจพบเนื้องอก จึงต้องกลับไปรักษาที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

 

มิสซิสเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ เสียชีวิตที่แคลร์มอนต์ แคลิฟอร์เนีย ในปี พ.ศ. 2505 เมื่ออายุได้ 79 ปี … คงเหลือเพียงความทรงจำที่ถ่ายทอดไว้เป็นตัวอักษร  

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะซื้อหาหนังสือเล่มนี้อาจจะยากอยู่สักหน่อย เพราะตีพิมพ์ออกมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่ยังสามารถหาอ่านได้ตามหอสมุดแห่งต่างๆ นอกจากนี้พบว่ามีในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในเว็บไซต์หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง เป็นฉบับพิมพ์ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่ประดับ ฤทธาคนี เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2552 คลิกที่  http://www.finearts.go.th/trangarchives/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์.html

 

แหล่งอ้างอิง  

"ประวัติโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง" ที่มา http://www.wattana.ac.th/wwa/

"มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนในสยาม และสภาคริสตจักรในประเทศไทย" ที่มา http://www.cct.or.th/


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ