วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2528) ได้นำเสนอบทความเรื่อง “ศิลปะอาณาจักรอโยธยา” และ “ภาพชุดศิลปะอโยธยา” โดย น. ณ ปากน้ำ หรืออาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ถ่ายภาพโดยไพฑูรย์ ทิณพงษ์ มีภาพปกเป็นรูปเจดีย์วัดอโยธยา (วัดเดิม)
เจดีย์วัดอโยธยา (วัดเดิม) เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะแบบอโยธยาชัดเจน คือ ฐานเป็นสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์แปดเหลี่ยม ระฆังกลมแบบเจดีย์ปาละ ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับเจดีย์วัดเขาดินข้างสระแก้วที่สุพรรณบุรี และเหมือนกับเจดีย์วัดขุนเมืองใจ กลางตัวเกาะอยุธยา มีลักษณะพิเศษคือปั้นปูนเป็นกลีบบัวที่องค์ระฆัง เป็นเทคนิคการประดับเจดีย์อย่างละเอียด คล้ายกับเจดีย์อโยธยาที่สุพรรณบุรี เช่นวัดพระรูป และเจดีย์รายด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุลพบุรี เจดีย์แบบนี้ก็เช่นเดียวกับเจดีย์อโยธยาอื่นๆ คือ ก่ออิฐไม่สอปูน ลักษณะของเจดีย์วัดอโยธยานี้ได้ส่งแบบให้แก่วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา วัดสนามไชยที่สุพรรณบุรี วัดแก้วที่สรรค์บุรี รวมทั้งเจดีย์อโยธยาในถ้ำที่เขาหลวง เพชรบุรี
ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่า เจดีย์นี้เป็นกลุ่มเจดีย์สไตล์เดียวกับเจดีย์ละโว้ คือ เจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดเสาธงทอง ลพบุรี และเจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน ลักษณะคล้ายคลึงกันมาก เป็นแต่เพียงว่าเจดีย์ละโว้นั้นทรงแปดเหลี่ยมตลอดถึงฐานแบบเดียวกับที่วัดมณฑป และวัดกะซ้ายในอยุธยา เจดีย์แบบนี้มีซุ้มทิศแปดเหลี่ยม ประดิษฐานประพุทธรูปยืนทั้งแปดทิศ เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนว่า เอาแบบมาจากปาละทรงสูง อันเจดีย์ปาละของอินเดียที่แท้นั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ ทรงสูงมีทั้งแบบแปดเหลี่ยมตลอดองค์ และแปดเหลี่ยมทรงสูงตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับวัดแก้วสรรค์บุรี และวัดใหญ่ชัยมงคลที่อยุธยานั้น กับแปดเหลี่ยมทรงต่ำ ดังเช่น วัดอโยธยา และวัดขุนเมืองใจ ดังกล่าวมาแล้วนั้น
ข้อสังเกต ถ้าเป็นสมัยอโยธยา การก่อเจดีย์จะก่อด้วยอิฐที่ฝนจนเรียบแล้วไม่ใช้ปูนสอ อาจจะใช้ยางไม้ผสมด้วยมโนศิลาตามระบบการก่อสร้างโบราณของอินเดีย ในสมัยอยุธยาตอนต้นมีการก่อไม่สอปูนบ้าง เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการก่อที่หยาบกว่าอโยธยา การที่จะให้เรียงอิฐได้แบบสนิทเช่นที่วัดสามปลื้ม (อยู่กลางถนน ทางแยกที่จะไปวัดอโยธยา) เห็นว่าเทียบกันไม่ได้ อีกประการหนึ่งเจดีย์สมัยอโยธยานี้ข้างในมักจะกลวงเสมอ
รวมภาพชุดศิลปะอโยธยา จากบทความ “ศิลปะอาณาจักรอโยธยา” คำอธิบายภาพโดย น. ณ ปากน้ำ และถ่ายภาพโดยไพฑูรย์ ทิณพงษ์ มีดังนี้
เจดีย์ปาละทรงสูงสมัยอู่ทองที่วัดแก้ว เมืองสรรค์บุรี
เจดีย์วัดใกล้สระแก้วเป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมสูง
ชิ้นส่วนเศียรพระศิลาสมัยอโยธยา ค้นพบจากใต้ฐานชุกชีพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุอยุธยา
เป็นเศียรขนาดใหญ่มาก ที่พระขนงยังต่อกันเป็นเส้นโค้งลงแบบศิลปะทวารวดีจึงน่าจะเป็นสมัยอโยธยาตอนต้น
ลายจำหลักศิลาฐานชุกชี ศิลปะอโยธยา ถูกนำมาจากใต้วิหารวัดมหาธาตุ ลวดลายเป็นแบบเก่าก่อนศิลปะอุยธยา
เช่น ลายลูกฟักประจำยามก้ามปูเป็นอย่างเก่า และลายหน้ากระดานที่ขนาบด้วยเส้นไข่ปลา รับอิทธิพลจากศิลปะทวารวดี
ลายจำหลักชุกชีศิลาสมัยอโยธยา จากวัดมหาธาตุ อยุธยา ถ้าสังเกตจะพบว่าเป็นลายที่ให้อิทธิพลแก่ศิลปะสุโขทัย
ลายดอกไม้กลางหน้ากระดานซ้ายมือ เป็นดอกไม้ที่ให้อิทธิพลแก่สุโขทัย สังเกตว่าลายที่นี่เก่ากว่าสุโขทัย ด้วยลายอย่างเป็นกลุ่มก้อน
ส่วนดอกไม้สุโขทัยตัวลายขมวดได้ยาวยืดออกมากระจาย คือเข้าไปสู่สภาพวิวัฒนาการต่อไปเสียแล้ว ดังจะเห็นดอกไม้แบบนี้ในชามสังคโลกทั่วไป
ลายคลาสสิคอันยิ่งใหญ่ของศิลปะอโยธยาที่ขุดได้ใต้พระวิหารหลวงวัดมหาธาตุอยุธยา เป็นลายกนกขมวดซ้อนกันสองตัวแบบหรูหรา
ที่จริงก็วิวัฒนาการมาจากลายทวารวดี ดังเช่นลายที่พระนอนในถ้ำพระนอนเขางู จ.ราชบุรี และลายอันปรากฏในใบเสมาอู่ทองทั่วไปนั่นเอง
พระพักตร์พระพุทธรูปใหญ่สมัยอโยธยาตอนกลาง เป็นศิลาขนาดใหญ่มาก
พระพักตร์เรียวยาวแบบสุโขทัยแต่เป็นเรียลลิสติคแบบธรรมชาติ
มีพราย คือ เส้นเหนือริมพระโอษฐ์เบื้องบน อันเป็นอิทธิพลบายน
เป็นประติมากรรมที่คลาสสิคของสมัยอโยธยาที่ให้อิทธิพลแก่สุโขทัยอีกต่อหนึ่ง
พระพุทธรูปปูนปั้นบนซุ้มปรางค์ที่วัดพระราม สมัยพระราเมศวร ลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืนสมัยอยุธยาตอนต้น
ใครที่ไม่เคยเห็นพระยืนหุ้มทองคำสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ก็ดูองค์นี้แทนได้ ด้วยเป็นพระสมัยอยุธยาตอนต้นเหมือนกัน
หรือจะไปดูที่พระยืน (โลกนาถ) ที่วิหารด้านทิศตะวันออก วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ ก็ได้ เพราะเอามาจากวัดพระศรีฯ เช่นเดียวกัน
ใบเสมาศิลาจำหลักบนหินทรายสมัยอโยธยาที่อยุธยา จะเห็นว่าลายตรงอกเสมา ตรงกลางมีวงกลมเป็นก้าน
และดอกเป็นดอกไม้ที่จะให้อิทธิพลแก่สุโขทัย ส่วนข้างๆ เป็นใบ บรรจุในช่องยาวโค้งแหลมไปตามบ่าเสมาเห็นเป็นช่อใบไม้
และที่สุดช่อใบไม้ก็เลื้อยกลายเป็นกนกเปลว กนกเปลวของสมัยกรุงศรีอยุธยารุ่นหลังนั้น มีมูลเหตุมาจากที่นี่
เศียรคลาสสิค พระพุทธรูปสมัยอโยธยาตอนกลางต่อตอนปลาย อยู่ที่วัดเกษ ซึ่งงามมาก
มีพรายเหนือริมพระโอษฐ์บน แสดงว่าอยู่ร่วมสมัยกับบายน สมัยนี้ยังไม่มีเส้นไรพระศก และเส้นพระศกก็เป็นเม็ดพอดีแบบปาละ
จากบทความ “ภาพชุดศิลปะอโยธยา” (The Art of Ayotthaya) คำอธิบายภาพโดย น. ณ ปากน้ำ และถ่ายภาพโดยไพฑูรย์ ทิณพงษ์ มีดังนี้
เจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดมณฑป อยุธยา มีพระพุทธรูปยืนประจำทั้งแปดทิศ
เดิมก่อนที่ทางวัดจะทำการซ่อมนั้น ได้เห็นอิฐอย่างชัดเจน บ่งถึงว่าเป็นเจดีย์เก่าแก่ เพราะก่ออิฐไม่สอปูน
ขนาดอิฐก็เช่นเดียวกับเจดีย์อโยธยาทั่วไป รูปทรงก็เหมือนกับเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่วัดพระธาตุหริภุญชัย อันเป็นเจดีย์ละโว้นั่นเอง
เจดีย์แปดเหลี่ยมตลอดองค์ทรงสูง ที่ตัวเกาะในบึงพระรามอยุธยา
มีพระพุทธรูปยืนประจำซุ้ม 8 ทิศ เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูน สมัยอโยธยา
พระพุทธไตรรัตนนายก ที่วัดพนัญเชิง อยุธยา ในพระราชพงศาวดารอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ
กล่าวว่ามีการหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ในสมัยอโยธยาก่อการสร้างกรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี
เจดีย์ 8 เหลี่ยมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม ที่วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา มีขนาดใหญ่กว่าเจดีย์วัดสนามชัย ที่สุพรรณบุรีเล็กน้อย
เมื่อสมัยก่อนที่กรมศิลปากรจะทำการซ่อมได้เห็นระบบการเรียงอิฐที่แนบสนิทไม่สอปูนอย่างชัดเจน เป็นที่น่าพิศวงแก่ผู้ได้ทัศนายิ่งนัก
เจดีย์วัดกระช้ายอยู่นอกตัวเกาะอยุธยาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม ทรงสูง ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน
เมื่อเข้าไปประชิดได้เห็นระบบการก่ออิฐที่น่าอัศจรรย์ คือช่างอโยธยาสามารถทำข้างในกลวงไปจนถึงยอดคอระฆัง
บ่งถึงว่าเทคโนโลยีในการก่อสร้างของอโยธยานั้นยอดเยี่ยมมาก
เจดีย์วัดกลางทุ่งประเชด ซึ่งตั้งอยู่ข้างองค์ปรางค์ประธานของวัด อันปรางค์ประธานนั้นเป็นฝีมือการก่อสร้างของเริ่มต้นยุคอยุธยา
ส่วนเจดีย์องค์นี้เก่ากว่า เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูน เข้าใจว่าวัดนี้คือวัดป่าแก้วของอยุธยาเพราะตรงตามทิศ คือ อยู่ห่างจากตัวเกาะ 2-3 กิโลเมตร
ที่น่าสังเกตคือเป็นวัดเดียวที่มีถนนใหญ่กว้างถึง 10 กว่าเมตร ยาวทอดจากริมน้ำมาจนถึงองค์เจดีย์
คงเป็นทางเสด็จของพระมหากษัตริย์โดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค แสดงว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดของอยุธยา
การปั้นอิฐโบราณสมัยอโยธยา เป็นรูปวงกลมเสี้ยว 4 เสี้ยว สำหรับประกอบเป็นเสา ที่วัดขนอนบางตะนาวศรี
ขนาด 3.5-13.5 ซม. ซึ่งเป็นอิฐประกอบเสาที่ใหญ่มากในสมัยอยุธยาไม่เคยมี
เจดีย์แบบหินยานลังกาที่วัดพลับพลาชัย ระฆังใหญ่เกือบจรดพื้น บังลังก์ใหญ่มาก
มีมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะวัดนี้มีกล่าวถึงเจ้าอ้ายและเจ้ายี่พระยาด้วย
เจดีย์สมัยอโยธยาที่วัดสุวรรณาวาส ก่ออิฐไม่สอปูน ข้างในกลวง
ใบเสมาศิลาขนาดใหญ่สูงท่วมหัว สมัยอโยธยาตอนต้นที่วัดขนอน (ปากคลองมหาพราหมณ์) ตัวลายที่เสมาเป็นลายแบบทวารวดีผสมอโยธยา
เจดีย์อโยธยาทรงสูง ก่ออิฐไม่สอปูน ทรง 8 เหลี่ยม ตั้งอยู่กลางเกาะในบึงพระราม ซึ่งที่นี่อาจจะเป็นหนองโสนก็ได้