ในยุคที่โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กตามท้องถิ่นต่างๆ แทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ประกอบกับการผลิตสื่อโฆษณาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อาชีพช่างเขียนใบปิดและป้ายโฆษณาประจำโรงภาพยนตร์ต้องเลือนหายตามไปด้วย...
จากการศึกษาของ สกลชนก เผื่อนพงษ์ ได้กล่าวถึงพัฒนาการของป้ายโฆษณาภาพยนตร์ในเมืองไทยว่า “เมื่อไทยรับเอาความนิยม และเติบโตทั้งในด้านการผลิตภาพยนตร์และความนิยมในการรับชมภาพยนตร์จนกลายเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนาดใหญ่นั้น อาชีพช่างเขียนป้ายโฆษณาภาพยนตร์จึงถือกำเนิดขึ้น โดยรูปแบบการวาดป้ายส่วนใหญ่ก็ได้รับเอาอิทธิพลมาจากการวาดป้ายโฆษณาภาพยนตร์จากต่างประเทศเกือบทั้งนั้น”
กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วที่งานวาดใบปิดภาพยนตร์ ตลอดจนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่หรือคัทเอาท์ที่ติดตั้งอยู่ทางด้านหน้าโรงภาพยนตร์เป็นที่นิยม เพราะเป็นสื่อโฆษณาที่มีสีสันดึงดูดสายตาของผู้ที่พบเห็น เมื่อราว 50 ปีก่อน ในยุคสมัยที่คนรุ่นพ่อแม่ยังเป็นวัยรุ่น การไปเที่ยวโรงภาพยนตร์และได้ถ่ายรูปกับป้ายโฆษณาภาพยนตร์เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่โก้เก๋ ส่วนใบปิดภาพยนตร์จะถูกติดไว้ตามที่สาธารณะในจุดที่สะดุดตา เพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้พบเห็นและรับรู้ นอกจากนี้ยังมีรถกระบะที่ติดตั้งคัทเอาท์โฆษณาภาพยนตร์วิ่งกระจายเสียงเชิญชวนให้ “คอหนัง” มาชมภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ที่กำลังเข้าฉาย
ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง "เหยื่อ" (พ.ศ. 2530) และ "สะใภ้" (พ.ศ. 2529) จากโรงหนังในตลาดเมืองตะกั่วป่าที่คุณสุรพลเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ใบปิดภาพยนตร์ งานป้ายโฆษณา หรือคัทเอาท์หน้าโรงภาพยนตร์ดังที่กล่าวมานั้น ในยุคก่อนล้วนแต่เป็นงานฝีมือที่สร้างสรรค์ขึ้นจากฝีแปรงและปลายพู่กันของช่างเขียนภาพทั้งสิ้น ดังนั้น งานช่างเขียนป้ายโฆษณา นอกจากเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวแล้ว ยังเป็นโอกาสในการอวดฝีไม้ลายมือ จึงถือเป็น งานสร้างคน และ งานในฝัน ของผู้ที่รักการวาดภาพ และสนใจงานภาพยนตร์ ศิลปินหลายคนเริ่มต้นจากการเขียนป้ายโฆษณาภาพยนตร์ ศิลปินที่มีชื่อเสียงและถือเป็นตำนานของวงการช่างเขียนป้าย เช่น แนม สุวรรณแพทย์ ผู้ควบคุมฝ่ายฉากและศิลปกรรมของบริษัทศรีกรุง ได้ฝากฝีมือไว้ในช่วงทศวรรษที่ 2470 เปี๊ยก โปสเตอร์ หรือ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ ศิลปินนักวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในวงการนี้ เริ่มต้นเส้นทางอาชีพด้วยการเขียนป้ายโฆษณาสินค้า วาดรูปปกนิตยสารและใบปิดภาพยนตร์ ก่อนจะผันตัวเองเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) เมื่อปี พ.ศ. 2558
เมื่อความนิยมในการชมภาพยนตร์เริ่มกระจายสู่ภูมิภาค จะเห็นว่าตามหัวเมืองหรืออำเภอใหญ่ๆ เริ่มเกิดโรงภาพยนตร์ขึ้นในย่านตลาด ถือเป็นแหล่งบันเทิงที่เฟื่องฟูอย่างมากในยุคหลัง 2500 ขณะเดียวกันงานวาดภาพโปสเตอร์ และคัทเอาท์หน้าโรงภาพยนตร์ ก็แพร่หลายไปสู่แวดวงนักวาดภาพในท้องถิ่นต่างๆ ดังเช่นเรื่องราวของ คุณสุรพล แซ่แต้ อดีตช่างวาดภาพประจำโรงภาพยนตร์ในย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า
คุณสุรพล แซ่แต่ ช่างศิลป์ประจำกองช่าง เทศบาลเมืองตะกั่วป่า
สถานที่ทำงานของฝ่ายศิลป์ กองช่าง เทศบาลเมืองตะกั่วป่า มีลักษณะคล้ายโกดังขนาดใหญ่ ภายในเป็นที่สร้างสรรค์และเก็บผลงานเก่าๆ ของคุณสุรพล เสียงเพลงจากวิทยุเปิดคลอเคล้าไปกับกลิ่นสีเจือจาง เป็นบรรยาการศการทำงานตามปกติในทุกๆ วัน คุณสุรพลในชุดทะมัดทะแมง ที่เอวมีผ้ากันเปื้อนตัดเย็บด้วยผ้าปาเต๊ะสีสันสดใสคาดอยู่ ในมือข้างหนึ่งถือพู่กัน ค่อยๆ บอกเล่าถึงชีวิตการทำงานในเราฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
มุมหนึ่งในที่ทำงานของคุณสุรพล เต็มไปด้วยถังสี กระดาษ และภาพร่างต่างๆ
พื้นเพเดิมของครอบครัวคุณสุรพล เป็นจีนแต้จิ๋ว ทำการค้าอยู่ที่จังหวัดระยอง ต่อมาพ่อแม่ของคุณสุรพลได้ย้ายมาลงหลักปักฐานที่ภาคใต้ เริ่มแรกอยู่ที่ภูเก็ต ก่อนย้ายมาอยู่ในแถบตลาดใหญ่ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งขณะนั้นคุณสุรพลมีอายุเพียง 4 - 5 ขวบ
คุณสุรพล แซ่แต้ กำลังเขียนป้ายผ้ารณรงค์
ในย่านตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า ยุคที่การทำเหมืองแร่ดีบุกรุ่งเรืองถึงขีดสุด ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาเป็นคนงานในธุรกิจเหมืองแร่และโรงเหล็ก ตามถนนศรีตะกั่วป่า ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมืองนั้น เต็มไปด้วยห้างร้านค้าต่างๆ มากมาย รวมไปถึงธุรกิจบริการและแหล่งบันเทิง ได้แก่ โรงแรม บาร์รำวง และโรงภาพยนตร์ สมัยก่อนที่ย่านตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า เคยมีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ 2 โรง คือ โรงภาพยนตร์กลั่นแก้ว และ โรงภาพยนตร์เจริญจิต ซึ่งทั้ง 2 แห่งต้องแข่งขันกันนำเสนอเพื่อเรียกลูกค้าที่โดยมากจะเป็นพวกคนงานเหมืองที่เข้ามาซื้อหาข้าวของและเที่ยวดื่มกิน
ราวปี พ.ศ. 2517 – 2518 คุณสุรพลที่ตอนนั้นมีอายุราว 14 -15 ปี ได้เห็นภาพคัทเอาท์หน้าโรงภาพยนตร์ในตลาด รู้สึกชื่นชอบและอยากจะเรียนเขียนภาพได้บ้าง จึงไปขอฝากตัวเป็นศิษย์กับครูช่างวาด 2 ท่าน ที่โรงภาพยนตร์กลั่นแก้ว ท่านแรกคือ ช่างโญ หรือ นายภิญโญ แซ่ตั๋น ส่วนท่านที่สองคือ ช่างยุทธ หรือ นายยงยุทธ เพชรอัยรา นอกจากการฝึกฝนเทคนิคการวาดภาพแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นลูกมือช่วยหยิบจับงานเล็กๆ น้อยๆ
“ตอนที่เรารู้ว่าชอบวาดภาพ ก็ไปขอฝากตัวเป็นศิษย์กับช่างวาดคัทเอาท์โรงหนังในตะกั่วป่า... คนที่วาดโปสเตอร์ จะทำงานอยู่ทางด้านหลังโรงหนัง เราคอยไปชะเง้อดู ด้วยเราเป็นคนกล้าพูด จึงไปขอเป็นศิษย์ เริ่มทำงานขั้นพื้นฐานก่อน เช่น ช่วยผสมสี ล้างพู่กัน ล้างถังสี ยกของ ต่อมาครูให้โอกาสมากขึ้น จึงได้เริ่มวาดองค์ประกอบต่างๆ เช่น ลงสีพื้นหลัง วาดรองเท้า ต้นไม้ใบหญ้า พอเขาเริ่มเห็นแววจึงได้วาดเสื้อผ้า กระดุม แต่กว่าจะได้เริ่มวาดใบหน้าของตัวละครก็ใช้เวลาเป็นปี ถือว่าเป็นขั้นสูงสุดของการทำงาน”
รูปเจ้าแม่กวนอิมที่ใช้ในงานเทศกาลกินผัก
คุณสุรพลฝึกฝีมือเป็นช่างวาดอยู่ที่โรงภาพยนตร์กลั่นแก้วเรื่อยมา กระทั่งที่บ้านต้องการให้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ในกรุงเทพฯ จึงต้องละงานวาดภาพที่ชื่นชอบเอาไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ความสามารถและความรักในงานศิลปะ ทำให้คุณสุรพลมีโอกาสทำงานที่ตนเองรักอีกครั้ง ด้วยการเป็นช่างศิลป์ในกองช่างของเทศบาลเมืองตะกั่วป่ามากว่า 30 ปี รับหน้าที่สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นป้ายประกาศ รูปที่ใช้ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานสงกรานต์ และที่สำคัญคือ งานเทศกาลกินผัก ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปีที่ศาลเจ้าในตะกั่วป่า รูปที่ใช้ในงานเทศกาลกินผักจะเป็นรูปเทพเจ้า ได้แก่ พระโพธิสัตว์กวนอิม เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าเห่งเจีย เป็นต้น แต่ละรูปมีขนาดสูงมากถึง 2 เมตร
รูปเทพเจ้ากวนอู ขนาดสูงกว่า 2 เมตร
คุณสุรพลเล่าถึงขั้นตอนการวาดภาพเทพเจ้าขนาดใหญ่ว่า “เริ่มต้นด้วยการหาแบบภาพที่ต้องการ จากนั้นนำมาเข้าสเกล เพื่อวาดลงบนกระดานไม้แผ่นใหญ่ ขนาดประมาณ 2.4 เมตร ซึ่งต้องเลือกใช้ไม้ที่เกรดดีหน่อย ถึงแม้ว่าเป็นงานชั่วคราว แต่ต้องการความทนทาน เนื่องจากใช้ติดตั้งกลางแจ้งเป็นเวลาหลายวัน ส่วนสีที่ใช้จะเป็นสีพลาสติก หรือสีอะคริลิค เพราะใช้ง่าย และเหมาะสมกับลักษณะงาน”
รูปเทพบริวารของเจ้าแม่กวนอิมดูมีชีวิตชีวา
คุณสุรพลยังกล่าวอีกว่า แม้ตะกั่วป่าจะมีฝนตกชุก แต่เรื่องความชื้นไม่เป็นปัญหาในการทำงาน แต่กลับส่งผลดี คือ ทำให้สีแห้งช้าลง ช่างวาดก็มีเวลาในการเติมสีสันได้จนพอใจ เพราะถ้าสีแห้งเร็วเกินไป ยังไม่ทันได้เกลี่ยสีก็แห้งหมดแล้ว ส่วนรูปวาดที่ใช้แต่ละปี หากไม่ชำรุดจนเกินไป จะนำมาซ่อมสี เพื่อนำมาใช้ต่อในปีถัดๆ ไป เป็นการประหยัดงบประมาณ เช่นเดียวกับผลงานที่เหลือใช้จากงานต่างๆ ที่เคยทำมาแล้ว สามารถนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ในโอกาสอื่นๆ ได้เหมือนกัน
รูปเจ้าแม่กวนอิมที่เคยใช้ในเทศกาลกินผักเมื่อหลายปีก่อน บางส่วนยังถูกเก็บไว้ รอโอกาสนำมาซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
เทศกาลกินผัก เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนตุลาคม
การวาดภาพด้วยฝีมือเช่นนี้ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้กับงานเทศกาลแล้ว คุณสุรพลยังหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ว่าลักษณะการวาดภาพอย่างที่เคยมีอยู่ตามโรงภาพยนตร์สมัยก่อนเป็นอย่างไร และอีกไม่กี่ปี การทำงานเป็นช่างศิลป์ประจำเทศบาลเมืองตะกั่วป่าของคุณสุรพลก็จะครบวาระเกษียณงานแล้ว ปณิธานในใจอย่างหนึ่งของอดีตช่างวาดคัทเอาท์ประจำโรงภาพยนตร์แห่งเมืองตะกั่วป่าคือการทิ้งฝีไม้ลายมือผ่านผลงานภาพวาดสวยๆ ในเทศกาลกินผัก เพื่อให้เลืองลือว่าช่างวาดแห่งเมืองตะกั่วป่าก็มีฝีมือไม่เป็นรองใคร
รูป "งู" ใช้ในช่วงงานสงกรานต์
สีสันบนพื้น ร่องรอยจากการทำงานที่ดูเป็นศิลปะ
ผลงานศิลปะบางส่วนที่ยังเก็บไว้
การออกแบบยางรถยนต์เก่าเป็นรูปตุ๊กตาสีสันสดใส สำหรับตั้งในสวนสาธารณะให้เด็กๆ ได้เล่น เป็นผลงานชิ้นหนึ่งของคุณสุรพล