รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่
แวดวงเสวนา

รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ วารสารเมืองโบราณ ร่วมกับสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดงานพิพิธเสวนาครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2562 ในหัวข้อ “รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่” โดยกิจกรรมประกอบด้วยการทัศนศึกษาในพื้นที่ชุมชนศรีภูมิและบางไส้ไก่ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในฝั่งธนบุรีจากอดีตถึงปัจจุบัน และกิจกรรมเสวนาที่พูดคุยถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่และร่องรอยมรดกวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวที่สะท้อนผ่าน “ขลุ่ย” ที่ผลิตขึ้นในย่านบางไส้ไก่ โดยช่างฝีมือชั้นครูที่สืบทอดมายาวนาน

 

เดินเท้าทัศนศึกษาจร จากตรอกศรีภูมิ-บางไส้ไก่

ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้รับหน้าที่เป็นวิทยากรในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงภูมิวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางหลวง พร้อมทั้งชี้ให้เห็นแนวคลองบางไส้ไก่และคลองศรีภูมิ ผ่านแผนที่เก่าของกรุงเทพฯ - กรุงธนฯ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงลักษณะการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีตที่ยังพึ่งพาอาศัยสายน้ำ ก่อนจะเปลี่ยนมาสู่ยุคถนนที่เริ่มมีการถมคลองและเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านเรือน

 

สุดารา สุจฉายา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และหัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ช่วยเสริมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ว่าแต่เดิมบริเวณนี้เป็นถิ่นฐานของตระกูลบุนนาคและมีบทบาทสำคัญต่อย่านนี้ ทั้งการสร้างวัดและระดมแรงงานขุดคลองเพื่อเปิดพื้นที่ชุมชน โดยมีบุคคลสำคัญคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

 

ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง อธิบายถึงภูมิวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางหลวง

 

ที่มาของชื่อบ้านนามเมือง “ศรีภูมิ” นั้น มีเรื่องเล่าว่ามาจาก ขุนศรีภูมิ ผู้นำชุมชนชาวลาวที่เข้ามาด้วยเหตุแห่งสงครามเมื่อสมัยกรุงธนบุรีต่อกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมๆ กับชาวลาวบางไส้ไก่ที่ตั้งบ้านอยู่ต่อเนื่องกัน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกันยังมีกลุ่มชาวมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบวัดประดิษฐาราม ริมคลองบางหลวงไม่ห่างจากวัดลาวบางไส้ไก่นัก 

 

ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพบุรุษอพยพย้ายจากเวียงจันทน์มาตั้งถิ่นฐานยังฝั่งธนบุรี เจ้าขุนมูลนายและไพร่พลในยุคเริ่มสร้างบ้านแปงเมือง ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมา นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมี “ศาลพ่อปู่” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน

 

ชาวชุมชมศรีภูมิให้การต้อนรับและนำชม "ศาลพ่อปู่" ประจำชุมชน

 

จากตรอกศรีภูมิ เราเดินทางต่อไปยังวัดใหญ่ศรีสุพรรณและวัดบางไส้ไก่ สองวัดสำคัญประจำย่าน วัดใหญ่ศรีสุพรรณสร้างขึ้นสมัยกรุงธนบุรีโดย เจ้าขรัวทอง ซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าขรัวเงิน พระบิดาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 ส่วนเจ้าขรัวเงินได้สร้างวัดอีกแห่งหนึ่งขึ้นคู่กันคือ วัดหิรัญรูจี หรือวัดน้อย ที่วัดใหญ่ศรีสุพรรณ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าชมวิหารหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด และเยี่ยมชมโบราณวัตถุต่างๆ ภายในวัด อาทิ ธรรมาสน์ ตู้พระไตรปิฎก โดยมีคุณสมศักดิ์ ชาวชุมชนวัดใหญ่ศรีสุพรรณมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล

 

เข้าเยี่ยมชมวิหาร ภายในวัดใหญ่ศรีสุพรรณ

 

พระมหาสมัย จินตโฆสโก เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ นำชมศาลพ่อปู่-พ่อตา ท้าวนนทะเสน-ท้าวอินทะเสน

 

จากวัดใหญ่ศรีสุพรรณ เดินเท้าต่อมายังวัดบางไส้ไก่ พระมหาสมัย จินตโฆสโก เจ้าอาวาส พร้อมด้วยคุณสุทธิ ประธานชุมชนบางไส้ไก่ให้การต้อนรับ และเป็นผู้นำชมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด รวมถึงศาลพ่อปู่-พ่อตา ท้าวนนทะเสน-ท้าวอินทะเสน ซึ่งมีนามสอดคล้องกับเชื้อพระวงศ์ลาวที่โยกย้ายเข้ามาในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังสะท้อนถึงรูปแบบความเชื่อเรื่องศาลปู่ตาที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนลาวอีกด้วย 

 

ปิดท้ายการทัศนศึกษาจรด้วยการเยี่ยมชมกรรมวิธีการทำขลุ่ยที่บ้านลาว เพื่อทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาและกระบวนการทำขลุ่ยกับช่างฝีมือผู้สืบทอดวิชาการทำขลุ่ยจากลุงจรินทร์ กลิ่นบุปผา และลุงอุทิศ อิ่มบุปผา นอกจากนี้ยังได้ลิ้มรส “ปลาส้ม” อาหารในวัฒนธรรมลาวที่ยังทำสืบเนื่องต่อมาในชุมชนลาวแห่งนี้

 

ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าเยี่ยมชมการผลิตขลุ่ยที่บ้านลาว บางไส้ไก่  

 

"ปลาส้ม" อาหารพื้นถิ่นในชุมชนลาวบางไส้ไก่ 

 

วงเสวนา “รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่”

กิจกรรมเสวนาเริ่มต้นขึ้นในช่วงแดดร่มลมตกที่บริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านเอกะนาค  อาคารเก่าหลังงามภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิษณุ บางเขียว รองอธิการบดี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนา วิทยากรในวงเสวนาประกอบด้วยรองศาสตราจารย์วัชรา คลายนาทร ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนในย่านบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และอาจารย์อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาดนตรีชาติพันธุ์ ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปี 2562

 

บรรดาผู้สนใจลงทะเบียนก่อนเข้าร่วมฟังเสวนา 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิษณุ บางเขียว

 

รศ. วัชราเกริ่นนำถึงความสนใจที่นำมาสู่การศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเชื่อมโยงเชื้อสายและวัฒนธรรมลาวเวียงจันทน์จากรุ่นคุณย่าสู่คุณพ่อ กระทั่งมาถึงตัวท่านเอง ผนวกกับได้ทำงานเป็นครูสอนวิชาสังคม ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงมีโอกาสทำงานวิจัยเรื่อง ชุมชนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : กรณีศึกษาชุมชนเมืองของสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในย่านนี้ด้วย

 

รองศาสตราจารย์วัชรา คลายนาทร

 

กลุ่มชาวลาวศรีภูมิและบางไส้ไก่อพยพเคลื่อนย้ายจากเมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยปลายกรุงธนบุรีถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดย รศ. วัชราได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเจ้าลาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาสัก อันนำมาสู่การกวาดต้อนครัวลาวมาไว้ในย่านต่างๆ รวมถึงในย่านบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และคุณหญิงพัน ภรรยาของท่าน นอกจากนี้ร่องรอยของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวยังสะท้อนให้เห็นผ่านชื่อบ้านนามเมือง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ที่มาได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งประชุมพงศาวดาร บันทึกชาวต่างชาติ ตลอดจนวรรณกรรมร่วมสมัย รวมถึงการลงพื้นที่ศึกษาเรื่องราวจากวัดและชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บข้อมูลคำบอกเล่าและตำนานท้องถิ่น

 

อาจารย์อานันท์ นาคคง

 

หลังจากนั้นอาจารย์อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาดนตรีชาติพันธุ์ ได้ชักชวนผู้ร่วมเสวนาให้มาเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านเสียงขลุ่ย ซึ่งอาจารย์ย้ำว่าเป็นเสียงของประวัติศาสตร์ เสียงของความผูกพันระหว่างคนสยามกับคนลาว เป็นเสียงดนตรีที่อยู่เหนือกำแพงภาษา อคติทางเชื้อชาติ การเมือง ศาสนา และเป็นวัฒนธรรมที่ถูกสืบทอดผ่านผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาไม่น้อยกว่าสี่ชั่วอายุคน โดยผ่านการเป่าขลุ่ยเป็นท่วงทำนองเพลงลาวต่างๆ จากคณะนักศึกษาของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ขลุ่ยบางไส้ไก่ได้บรรเลงบทเพลงลาวดวงเดือน ลาวดำเนินเกวียน ลาวแพนหรือลาวแคน รวมไปถึงบทเพลงร่วมสมัยอย่างเพลงคิดถึงบ้าน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อเพลงเดือนเพ็ญ ชวนให้ผู้ฟังต้องขบคิดถึงเบื้องหลังเสียงดนตรีเหล่านี้ ทั้งในมุมของผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องดนตรี ผู้ที่ขับร้อง และผู้ฟัง ท่วงทำนองเพลงเหล่านี้มีทั้งบทเพลงแสนหวานที่บอกถึงความสุข และท่วงทำนองแห่งความทุกข์เศร้าระทมขมขื่นที่บอกถึงการพลัดพรากจากลา  การส่งเสียงผ่านเครื่องดนตรีจึงเป็นเสียงของอารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผ่านไปยังผู้คน

 

ร่วมบรรเลงดนตรีโดยคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

เครื่องดนตรีอย่างขลุ่ยบ้านลาว จึงเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงความรู้สึกและอิสรภาพของคนพลัดถิ่นผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงมรดกภูมิปัญญาและความสามารถของช่างฝีมือทำขลุ่ยแห่งบ้านลาว ไม่ว่าจะเป็นลุงจรินทร์ กลิ่นบุปผา และลุงอุทิศ อิ่มบุปผา ครูช่างผู้ล่วงลับ รวมไปถึงช่างฝีมือท่านอื่นๆ ที่สืบทอดวิชาการทำขลุ่ยสืบต่อมา และพยายามนำพาให้ขลุ่ยบ้านลาวก้าวไปสู่เวทีสากล

 

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนานของผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและร่วมสร้างบ้านแปงเมือง ซึ่งยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายแง่มุมที่ชวนให้ขบคิด และตามรอยเพื่อค้นหาคำตอบตามชุมชนย่านเก่าในหลายๆ แห่งที่กำลังสูญสิ้นอัตลักษณ์ให้กับการกลืนกลายของสังคมเมือง  

 


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ