ชื่อหนังสือ : ขนมแม่เอ๊ย
ผู้แต่ง : ส. พลายน้อย
สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2561
จำนวน 160 หน้า ราคา 150 บาท
ขนมแม่เอ๊ย หนังสือขายดีที่พิมพ์ซ้ำหลายรอบ การันตีความสนุกด้วยชื่อของนักเขียนชั้นครู ส. พลายน้อย หรือสมบัติ พลายน้อย นักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 เจ้าของผลงานกว่าร้อยเรื่อง หลายเล่มยังมีผู้ติดตามอ่านและนำมาใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย จึงมีการพิมพ์ซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ดังเช่นหนังสือเรื่อง ขนมแม่เอ๊ย ที่หยิบมาเล่าเล่มนี้
หนังสือ "ขนมแม่เอ๊ย" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี
หนังสือเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ประวัติความเป็นมา นิทาน นิยาย ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับขนมหลากชนิด ซึ่งผู้เขียนนำมาอธิบายให้เราได้ทำความรู้จักขนมต่างๆ อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ขนมบางชนิดที่เราเคยลิ้มลองจนคุ้นลิ้น จนรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่อาจไม่เคยรู้ถึงรากที่มา ยังมีขนมอีกหลายชนิดที่หารับประทานได้ยาก หรือหายสาบสูญไปจนคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักกระทั่งชื่อเสียงเรียงนาม เช่น ขนมละมุด ขนมสามเกลอ ขนมโพรงแสม และอื่นๆ อีกมาก แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะนึกภาพไม่ออกเพราะในเล่มมีภาพประกอบที่ทางสำนักพิมพ์ค้นคว้าหามา พร้อมดัชนีค้นชื่อขนมท้ายเล่มซึ่งสะดวกในการค้นคว้าเพิ่มเติม
ผู้อ่านไม่ต้องกลัวว่าจะนึกภาพขนมชนิดต่างๆ ไม่ออก เพราะภายในเล่มมีภาพประกอบสีสันสวยงามนำเสนอไว้ด้วย
เนื้อหาของหนังสือรวบรวมมาจากบทความที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือวัฒนธรรมไทย นิตยสารแม่บ้านทันสมัย ก่อนหน้านี้เคยมีการจัดพิมพ์รวมเล่มมาแล้วหลายครั้ง สำหรับการจัดพิมพ์กับสำนักพิมพ์สารคดีครั้งนี้ ผู้เขียนมีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลใหม่ เมื่อพิศดูสารบัญมี 21 เรื่อง ประกอบด้วย 1) ที่มาของคำว่าขนม 2) ประเภทของขนม 3) ชื่อของขนม 4) ชื่อขนมโบราณ 5) ขนมหม้อแกง-แชงมา 6) กินสามถ้วย-กินสี่ถ้วย 7) ขนมต้ม 8) ข้าวตอก-ข้าวเม่า 9) ข้าวตู-ข้าวตัง 10) ขนมครั้งพุทธกาล 11) ขนมกระทะ 12) ขนมฝรั่ง 13) ขนมกวน 14) ขนมสารทชาวใต้ 15) กระยาสารท 16)ขนมเดือน 11 17) ขนมในประเพณีแต่งงาน 18) ขนมเลี้ยงพระ 19) ขนมแบบจีน 20) ของหวานเบ็ดเตล็ด 21) วิธีขายขนม และเพิ่มเติมภาคผนวกเรื่องข้าวทิพย์ ข้าวยาคู ข้าวปายาส ขว้างข้าวเม่า
ขนมบางอย่างที่อาจเคยได้ยินเพียงชื่อ หรือเคยเห็นแต่นึกชื่อไม่ออก ในเล่มนี้น่าจะมีคำตอบคลายสงสัยให้ใครหลายคนได้
เรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาเสิร์ฟผู้อ่านนั้น มีทั้งเรื่องสนุกๆ จากประสบการณ์ของตนเอง รวมถึงที่ค้นคว้าจากตำรับตำราและสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้รู้ ตัวอย่างบางช่วงบางตอน เช่น
"ผู้เขียนเมื่อครั้งเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนวัด ถึงวันทำบุญสารทก็ต้องทำหน้าที่ศิษย์วัด ต้องเตรียมผ้าอาบของพระไปด้วย เพื่อจะได้ใช้ห่อกระยาสารทและกล้วยไข่กลับกุฏิพระ สมัยนั้นกระยาสารทมีมากเหลือเฟือจริงๆ คนทำบุญก็มีมาก เพียงใส่คนละชิ้น คนละแผ่น ก็ได้กันองค์ละนับร้อยแผ่น และบางทีก็เตรียมของมามากกว่าพระ ไม่อยากขนกลับบ้านให้หนักก็ถวายพระไปหมด หรือพบคนที่คุ้นเคยชอบพอกันก็เอากระยาสารทใส่ขันข้าวให้ไปเป็นของแถม นี่เป็นวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของคนโบราณ" (ตอนกระยาสารท หน้า 104-105)
"ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีจดหมายเหตุกล่าวไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2398 ที่เมืองกาญจนบุรีมีเรือขนมเบื้องเร่ขาย และขายตลอดทั้งปี จึงต้องเสียค่าอากรตลาดปีละ 1 สลึง ในปัจจุบันเรือเร่ขายขนมอย่างที่กล่าวหมดไปแล้ว เพราะเปลี่ยนมาขายตามถนน ใช้รถเข็น รถเครื่อง ถ้าจะร้องขายก็ใช้เครื่องขยายเสียง แต่ไม่มีลีลาแบบเก่าเหลืออยู่เลย" (ตอนวิธีขายขนม หน้า 145)
"ผู้เขียนเคยคุยกับเพื่อนชาวมุสลิมหลายคนเกี่ยวกับขนมต่างๆ รวมทั้งมัศกอดด้วย ต่างมีความเห็นว่าขนมที่ชาวมุสลิมกินคงจะเข้าไปสู่ราชสำนักจากพวกเจ้าจอมที่เป็นมุสลิมนำเข้าไปเป็นเครื่องต้นหวาน คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต เป็นคนหนึ่งที่สอบค้นเรื่องขนมมัศกอด และได้เขียนเล่าไว้ว่า ได้สอบถามจากคุณย่าคุณยายแล้ว ได้ความว่า มัศกอดก็คือฮะหรั่วชนิดหนึ่ง" (ตอนขนมฝรั่ง หน้า 85)
เบรกดื่มชากาแฟครั้งต่อไป อย่าลืมเรียกหาขนมไทยแทนเบเกอรี่ ไปพร้อมกับการพลิกหน้าหนังสือ ขนมแม่เอ๊ย โดยสำนักพิมพ์สารคดีเล่มนี้