ชุดภาพถ่ายงานประเพณีล่องสะเพาและลอยกระทงที่ท่าน้ำวัดเกาะวาลุการาม ตำบลสวนดอก และขบวนแห่ที่จัดขึ้นในตัวอำเภอเมืองลำปาง บันทึกภาพโดยกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ เมื่อปี 2521
คำว่า สะเพา หรือสะเปา เป็นภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง เรือ, สำเภา ประเพณีล่องสะเพาคือการทำกระทงเป็นรูปเรือโดยใช้โครงไม้ไผ่หรือหยวกกล้วย ประดับด้วยกระดาษสีโปร่ง ภายในบรรจุดอกไม้ ผลไม้ อาหารคาวหวาน บ้างใส่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มลงไปด้วย แล้วนำสะเพาที่ทำขึ้นนี้ไปลอยในแม่น้ำ โดยมีความเชื่อว่าเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และเป็นการบูชาแม่น้ำ บ้างถือว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ นอกจากนี้หากเชื่อมโยงกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนาก็อาจตีความได้ว่าเป็นการมุ่งสู่นิพพานหรือความสุขในโลกหน้า ซึ่งลักษณะของพิธีกรรมลอยกระทงหรือเรือเช่นนี้เป็นรูปแบบความเชื่อที่พบร่วมกันในหลายวัฒนธรรม
ลอยกระทงที่ท่าน้ำวัดเกาะวาลุการาม ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง
สะเพา หรือสะเปา ทำเป็นรูปเรือ ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ แปะกระดาษสีโปร่ง มีเสากระโดงและติดธงทิวประดับ
กระทงใบตองประดับด้วยดอกไม้ ปักธูปเทียน รูปแบบอย่างกระทงที่นิยมกันโดยทั่วไป
ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามในชุมชนลุ่มแม่น้ำวัง จังหวัดลำปาง พบว่าหลายหมู่บ้านในตำบลปงแสงทองและตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง และบางหมู่บ้านในอำเภอเกาะคา ได้แก่ บ้านต้า บ้านหมอสม บ้านสำเภา บ้านแม่กึย บ้านชมพู บ้านลำปางกลาง บ้านศาลาไชย เป็นต้น มีการจัดพิธีล่องสะเพาสืบเนื่องกันมาแต่ดั้งเดิม โดยจะเริ่มจัดตั้งช่วงต้นเดือนยี่ ทยอยจัดหมุนเวียนไปเรื่อยๆ จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่ของล้านนาหรือยี่เป็ง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 12 ของภาคกลาง ในวันงานชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัด ฟังเทศน์ฟังธรรม จากนั้นจะนำสะเพาที่ทำขึ้นไปลอยในแม่น้ำ ไพโรจน์เสนอความเห็นว่าเหตุที่ประเพณีล่องสะเพามีความโดดเด่นอย่างมากในพื้นที่แถบนี้ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการเดินเรือหางแมงป่องหรือเรือแม่ปะเพื่อทำการค้าขายและขนส่งสินค้า โดยเฉพาะบ้านลำปางกลางที่ในอดีตเป็นท่าเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำวัง
ค่ำคืนวันลอยกระทงถือเป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับเด็กๆ
ต่อมาประเพณีนี้ได้ขยายเข้ามาสู่ตัวเมืองนครลำปาง ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าครองนครลำปาง ระหว่าง พ.ศ. 2440-2465 ได้มีการจัดพิธีล่องสะเพาขึ้นในวันเพ็ญเดือนยี่ (ยี่เป็ง) โดยตั้งสะเพาหลวงขึ้นที่คุ้มหลวง ใน ตำนานล่องสะเปาลำปาง โดยศักดิ์ รัตนชัย กล่าวว่า สะเพาหลวงทำเป็นรูปเรือสำเภาขนาดใหญ่ทำด้วยกระดาษสีโปร่ง มีเสากระโดงผูกติดกับธงทิวและห้อยโคมกระดาษเล็กๆ ภายในบรรจุอาหารคาวหวานและรูปปั้นข้าทาสบริวารและช้างม้าวัวควาย ประชาชนในตัวเมืองก็นำสะเพาของตนเองมาร่วมลอยในแม่น้ำวังด้วย
ขบวนแห่ในงานประเพณีล่องสะเพาหรือลอยกระทงที่ถนนบุญวาทย์ อำเภอเมืองลำปาง
เด็กนักเรียนที่มาร่วมในขบวนแห่
การแสดงฟ้อนรำเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว
ผู้ร่วมขบวนแห่แต่งกายด้วยชุดผ้าม่อฮ่อม
กระทั่งเมื่อมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการหยิบยกประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นมาใช้ ประเพณีลอยสะเพาได้ถูกนำเสนอให้เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของลำปางและจัดเป็นงานใหญ่โดยเทศบาลนครลำปาง ภายในงานมีขบวนแห่ การประกวดสะเพาหรือกระทง การจุดประทีปโคมไฟ เป็นต้น โดยได้รูปแบบงานมาจากงานลอยกระทงที่เชียงใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากกรุงเทพฯ อีกทอดหนึ่ง โดยเริ่มจัดขบวนแห่ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2513 ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่องานประเพณีล่องสะเปา จาวเวียงละกอน ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ขบวนแห่นางนพมาศ
นางนพมาศน้อยนั่งบนกระทงรูปดอกบัวที่ตั้งอยู่บนขนดงูใหญ่ น่าจะเรียกความสนใจจากผู้ชมได้ไม่น้อย
ขบวนแห่นางนพมาศ
แหล่งอ้างอิง
ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น, บรรณาธิการ. ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ. ลำปาง : สำนักงานจังหวัดลำปาง, 2559.