ระหว่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเมืองชุมพรเพื่อจัดเตรียมเส้นทางการเสด็จประพาสแหลมมลายูในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2433 (ร.ศ. 109) ทรงได้ฟังคำบอกเล่าของชาวบ้านเรื่องเสือดุร้ายที่ออกมากัดกินผู้คนในหลายท้องที่ จึงนำมาบันทึกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เสือใหญ่เมืองชุมพร” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกลงหนังสือวชิรญาณวิเศษ ก่อนเพิ่มเติมข้อมูลและนำมารวมไว้ในเล่มนิทานโบราณคดี
หนังสือนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า
เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพรบอกเล่าถึงสภาพพื้นที่ของเมืองชุมพรในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าดง มีสัตว์ป่าชุกชุม บ่อยครั้งที่มีเหตุสัตว์ป่าออกมาทำร้ายผู้คน ดังเช่นเรื่องของ “อ้ายเป๋” เสือดุร้ายที่เที่ยวกัดกินคนในหลายท้องที่ ได้แก่ บ้านใหม่ บ้านละมุ บ้านบางรึก(บางลึก) บ้านหาดพังไกร(หาดพันไกร) บ้านรับร่อ บ้านท่าญวน บ้านหาดหงส์ บ้านเขาปูน
สภาพภูมิประเทศของเมืองชุมพรในอดีตยังเป็นป่าเขารกทึบอยู่มาก
ภาพจากชุดภาพพระยาราชพินิจจัย ผู้ว่าราชการเมืองชุมพร ถวายพระเดชพระคุณเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2457 (ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
“ในเวลานั้นมีเสือดุที่แขวงเมืองชุมพรตัวหนึ่ง เสือนั้นตัวใหญ่ยาวสัก 9 ศอก เท้าเป๋ข้างหนึ่ง จึงเรียกกัน ‘อ้ายเป๋’ เที่ยวกัดกินคนตามแขวงบ้านใหม่ บ้านละมุ เสียหลายคน ประมาณกันแต่หกเจ็ดคนขึ้นไปถึงสิบคนยี่สิบคน และว่าเสือตัวนี้กล้าหาญผิดกับเสือซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ถึงเข้ากัดคนกลางวันแสกๆ บางทีคนนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือน ก็เข้ามาฉวยเอาไป บางคนไปขึ้นพะองทำตาลก็มาคาบเท้าลากไป จนชาวบ้านชาวเมืองพากันครั่นคร้าม ไม่อาจจะไปป่าหากินแต่คนเดียวสองคนได้”
นอกจากเรื่องเสือดุร้ายแล้ว ยังมีเรื่องเส้นทางสัญจรผ่านป่าเขาทุรกันดารจากชุมพรไปยังกระบุรี อ่าน “นิทานโบราณคดี” นิทานที่ 3 เรื่อง “เสือใหญ่เมืองชุมพร” ได้ในโครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ คลิก https://vajirayana.org/นิทานโบราณคดี/นิทานที่-๓-เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร
“นิทานโบราณคดี” ในหน้าเว็บไซต์โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ