เรื่องเล่าจากผาพญาเต่างอย

เรื่องเล่าจากผาพญาเต่างอย

 

รถแล่นจากวัดบึงสาลงใต้ไปตามถนนสาย 2330 อย่างไม่รีบเร่ง พอทันให้ได้สังเกตดูภูมิทัศน์ 2 ข้างทางที่เริ่มแปลกตาเปลี่ยนไปทีละนิด จากหมู่บ้านหนาแน่นในเขตชุมชนบึงสา รถเลี้ยวขวาผ่านผืนนากว้างไกลสุดตาที่แผ่ยาวประชิดเงื้อมเงาภูพานสูงทะมึนร่มรกครึ้มใต้เงาไม้น้อยใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผายล

ทุ่งนาก่อนถึงผาพญาเต่างอย

 

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งผาพญาเต่างอย อยู่ห่างจากวัดบึงสา ตำบลจันทร์เพ็ญ อำเภอเต่างอย ราว 7 กิโลเมตร 

 

จากจุดเริ่มต้นที่วัดบึงสามาราว 7 กิโลเมตร ผาพญาเต่างอย คือจุดหมายปลายทางที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ลงรถแล้วเดินขึ้นบันไดปูนไปไม่ไกล จะพบศาลผาพญาเต่างอยตั้งอยู่ ศาลนี้เป็นศาลไม้ทรงไทยหลังเล็กๆ หันหน้าสู่ถนน ภายในศาลเต็มไปด้วยรูปปั้นแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธูปเทียน หมากพลูและพวงมาลัยมากมายหลากหลายสีคล้องเบียดแน่นจนมองด้านในไม่ถนัด หน้าศาลยังมีสิ่งของเครื่องเซ่นวางเรียงรายเต็มพื้นที่ ทั้งรูปปั้นเต่าและสัตว์บริวาร ผลไม้ น้ำแดง ผักบุ้ง แสดงให้เห็นว่ามีชาวบ้านและผู้ศรัทธาหลั่งไหลมากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ ไม่ต่างกับเสียงแตรรถขณะแล่นผ่านถนนหน้าศาล ส่งสัญญาณคารวะดังเป็นจังหวะไม่ขาดเสียง

 

ศาลผาพญาเต่างอย ตั้งอยู่ริมถนนสาย 2330

 

บันไดปูนขึ้นไปสู่ศาลผาพญาพญาเต่างอย 

 

ศาลผาพญาเต่างอยเต็มไปด้วยรูปปั้นแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธูปเทียน หมากพลูและพวงมาลัยมากมายหลากหลายสีคล้องเบียดแน่น

 

แล้วออกเดินต่อตามทางปูนมุ่งหน้ายังทิศทางที่ระบุว่าเป็นทางขึ้นผาพญาเต่างอย สุดทางปูนต่อด้วยบันไดปูนขั้นเล็กๆ พาเราไต่ความสูงเลาะเลียบไหล่เขาขึ้นไปทีละน้อย สุดบันไดปูนมีเชือกผูกปมโรยลงมาระหว่างช่องหินให้เราพาตัวเองโหนไต่ขึ้นสู่ด้านบน สุดปลายปมเชือก เราหยุดยืนอยู่เหนือลานหินกว้างที่มีหินก้อนใหญ่น้อยซ้อนทับตั้งวางเรียงต่อกันอย่างได้จังหวะ บางมุมดูคล้ายอนุสาวรีย์แปลกตา บางมุมคล้ายห้องหรือเพิงผาขนาดย่อมๆ 

 

ป้ายทางขึ้นผาพญาเต่างอยเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนเดินขึ้นไป 

 

สุดบันไดปูนมีเชือกผูกปมโรยลงมาระหว่างช่องหินให้เราพาตัวเองโหนไต่ขึ้นสู่ด้านบน

 

ด้านบนมีลานหินกว้างที่มีหินก้อนใหญ่น้อยซ้อนทับตั้งวางเรียงต่อกัน

 

กลุ่มหินกองที่นักท่องเที่ยวนำมาตั้งเรียงตามความเชื่อใหม่ที่แพร่หลายมา

 

กลุ่มหินกองที่นักท่องเที่ยวนำมาตั้งเรียงตามความเชื่อใหม่ที่แพร่หลายมา

 

เรากระโดดข้ามร่องหินแคบๆ แล้วเดินอ้อมผาใหญ่ทางทิศตะวันตกมาเล็กน้อยก็ถึงลานหินบริเวณหัวเต่าที่เห็นไกลๆ จากเบื้องล่างเมื่อแรกมาถึง ลานนี้กว้างเรียบโล่งโค้งมน ช่วงกลางมีชะง่อนหินยื่นยาวออกไปคล้ายหัวเต่า มีพวงมาลัยพลาสติกสีสดคล้องเป็นสัญลักษณ์อยู่ด้วย มองเลยออกไปจะเห็นแนวคดโค้งของลำน้ำพุงกลางผืนป่ากว้าง คนในพื้นที่จินตนาการว่าผานี้คือเต่าขณะกำลังมุ่งหน้าสู่ลำน้ำพุง เป็นหนึ่งในที่มาของชื่อ บ้านเต่างอย ซึ่งคำว่า “งอย” เป็นคำกริยา หมายถึง อยู่หมิ่น,ตั้งอยู่หมิ่น, ห้อย

 

ร่องรอยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นำเข้าไปตั้งวางตามชะง่อนหินใกล้ผาพญาเต่างอย

พระพุทธรูปที่ผู้ศรัทธานำมาตั้งวางอยู่ตามชะง่อนหิน 

 

หลักเขตบอกอาณาบริเวณของอุทยานแห่งชาติภูผายล

 

อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งในสมัยที่ถนนหนทางยังไม่ดี ทางดิน-ทางเกวียนหน้าผาพญาเต่างอยเคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกองคาราวานนายฮ้อยวัวควายข้ามเขาภูพาน เช่นที่คุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “...คุณตาเป็นนายฮ้อย ชื่อนายฮ้อยยลมา ท่านเคยต้อนควายไปขายที่กาฬสินธุ์ ใช้เส้นทางผ่านหน้าผาพญาเต่างอย มีหัวเต่าริมหน้าผาเป็นหมุดหมายสำคัญ...

 

ในขณะที่ชาวบ้านผู้ใช้เส้นทางผ่านไปมา ไม่ได้มีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด บางคนยกมือไหว้ต่างคำขออนุญาตบอกกล่าวเพื่อผ่านทาง แต่บ้างเพียงผ่านไปมาเฉยๆ โดยไม่เคยมีการจัดงานปีเลี้ยงผีศักดิ์สิทธิ์เหนือช่องเขานี้มาแต่เดิม คุณยายพรมมี ฮ่มภูงอย อายุ 78 ปี คนเก่าคนแก่บ้านบึงสาเล่าให้ฟังว่า “...สมัยก่อน ถ้าจะไปเยี่ยมญาติที่บ้านโคกกลาง หรือจะข้ามภูพานไปบ้านซาด (บ้านชาด) บ้านนาคู ก็ต้องผ่านทางด้านหน้าผาพญาเต่างอย ซึ่งจะเห็นได้ชัดถ้าเดินจากทางบึงสาไป บางคนผ่านก็ยกมือไหว้ บางคนก็ไม่ ช่วงหน้าน้ำ ยายเคยไปยกยอจับปลาในน้ำพุงหน้าผาพญาเต่างอยด้วย...”

 

ลำน้ำพุงอยู่ทางทิศตะวันตกของผาพญาเต่างอย

 

 

บริเวณผาพญาเต่างอย ชะง่อนหินลักษณะคล้ายหัวเต่าหันหน้าสู่คดโค้งของลำน้ำพุงที่อยู่เบื้องล่าง ครั้งหนึ่งเคยเป็นหมุดหมายของผู้สัญจรผ่านทาง

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ