วิถีแห่งปราชญ์ : น. ณ ปากน้ำ
แวดวงเสวนา

วิถีแห่งปราชญ์ : น. ณ ปากน้ำ

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2561 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ร่วมกับวัดป่าโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดงานเสวนา “วิถีแห่งปราชญ์ : น. ณ ปากน้ำ กับ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา" ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า นำเสวนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณวิยะดา ทองมิตร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และนักเขียนประจำวารสารเมืองโบราณ

 

คุณวิยะดา ทองมิตร และ รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี  

 

คุณวิยะดาเริ่มต้นด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่เคยได้ร่วมงานกับอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ และเชิดชูเกียรติของท่านผ่านมุมมองที่มีต่อหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา คุณวิยะดาเล่าว่า อาจารย์ประยูรเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตรกรรม เดิมทีท่านรับราชการ ก่อนจะลาออกจากงานราชการ แล้วหันมาสนใจทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานต่างๆ  จากการศึกษาของท่านได้นำเสนอทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง

 

งานลงรักปิดทอง หนึ่งในความเชี่ยวชาญทางด้านจิตรกรรมของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ 

 

ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ตั้งคำถามว่า พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน ? มีนักวิชาการหลายท่านต่างเสนอทฤษฎีเรื่องพระเจ้าอู่ทอง บ้างสันนิษฐานว่ามาจากเมืองอู่ทอง บ้างว่ามาจากเมืองไตรตรึงษ์ กำแพงเพชร ขณะที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ เสนอว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง อาจมาจากเมืองที่อยู่ใกล้ๆ อยุธยา โดยอาจารย์มานิตอ้างอิงจากการศึกษาหลักฐานพงศาวดาร ขณะที่อาจารย์ศรีศักรศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ การสำรวจคูน้ำคันดิน และวัดโบราณ อันเป็นหลักฐานแสดงถึงการสร้างบ้านแปงเมือง ส่วนอาจารย์ประยูรใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะศึกษาลวดลายบนใบเสมา งานปูนปั้น และรูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์อโยธยาหรือสุพรรณภูมิ ซึ่งจากการศึกษาทั้งหมดมีความสอดคล้องกัน เกิดเป็นทฤษฎี เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร เมืองโบราณในช่วงพุทธศตวรรษ 18-19 ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา   

 

ด้านการทำงานของอาจารย์ประยูร คุณวิยะดาเล่าว่า ท่านมีความผูกพันกับโบราณสถานและโบราณวัตถุอย่างมาก ทั้งมีความละเอียดอ่อนและมีเมตตาต่อลูกศิษย์ จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับอาจารย์ประยูรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เวลาออกภาคสนามท่านจะเน้นการสำรวจวัดโบราณและศึกษารูปแบบศิลปกรรมของใบเสมา พระสถูปเจดีย์ นอกจากนี้ท่านยังคอยสั่งสอนหลายๆ อย่าง ทั้งยังผลักดันให้ผลิตผลงานวิชาการ เขียนหนังสือ และบทความ ถือเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับท่านอย่างใกล้ชิด

 

นิทรรศการภาพถ่ายอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เมื่อครั้งลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณสถาน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี กล่าวถึงความเป็นปราชญ์ของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ว่าท่านมีหัวใจเป็นนักปราชญ์และไม่เคยหวงแหนความรู้ที่จะถ่ายทอดให้รุ่นหลัง จากการศึกษางานเขียนของอาจารย์ประยูร จะเห็นว่าท่านทำการศึกษาค้นคว้าอย่างมากมาย ทั้งการอ่าน จดบันทึก หาข้อมูลอ้างอิง เช่น หากทำการศึกษาวัดเก่าแห่งหนึ่ง ท่านจะดูตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง สถาปัตยกรรม และหลักฐานประวัติศาสตร์ เพื่อศึกษาค้นคว้าให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงที่สุด

 

กล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ส่วนตัวที่ใช้ในการทำงานของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ

 

ความเป็นปราชญ์อีกประการหนึ่งของอาจารย์ประยูร คือ การซักถาม เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมและทดสอบความรู้ของตัวท่านเอง  นอกจากนี้ความเป็นปราชญ์ของท่านยังสะท้อนผ่าน การเขียน ดังจะเห็นได้จากหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ที่มีลักษณะเป็นการจดบันทึกประจำวันเหมือนอย่างไดอารี่ แต่มีความโดดเด่นที่การเพิ่มเติมเนื้อหาสาระจากการทำงาน นอกเหนือไปการบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันทั่วไป การสำรวจและบันทึกสิ่งที่ท่านพบเห็น ถือเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อนักวิชาการรุ่นหลัง ดังจะเห็นว่าผลงานของอาจารย์ประยูรหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ที่ถูกนำมาใช้เป็นหนังสืออ้างอิงให้กับนักวิชาการหลายๆ ท่านในยุคหลัง รวมถึงการเรียนการสอนทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย และมัคคุเทศก์ที่นำข้อมูลจากหนังสือของท่านมาใช้ในการบรรยายนำชมโบราณสถาน

 

ผลงานของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ที่นำมาจัดแสดงภายในงาน

 

ในช่วงท้ายของการเสวนา คุณเอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดี ซึ่งมาร่วมฟังเสวนาด้วย ได้กล่าวถึงผลงานของอาจารย์ประยูรที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนและนักประวัติศาสตร์หลายๆ ท่านในปัจจุบัน คุณเอนกเล่าว่า หลังจากได้อ่านหนังสือของอาจารย์ประยูรแล้วรู้สึกเสียดายวัดโบราณและแหล่งโบราณสถานสำคัญหลายแห่งที่ถูกรื้อหรือถูกบูรณะซ่อมแซมจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา เปรียบเสมือนไดอารี่วิชาการที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ได้ต่อยอดการศึกษาสืบต่อไป

 

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงภาพถ่าย ภาพวาด กล้องและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นของส่วนตัวของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ตลอดจนหนังสือต่างๆ ที่ท่านใช้ศึกษาค้นคว้าในการทำงานอีกด้วย  

 

กล้องถ่ายภาพคู่ใจของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ