ศรัทธาพญาเต่างอย

ศรัทธาพญาเต่างอย

 

 

สาวเต่างอยรอคอยอ้าย เต่างอยรอคอยอ้าย เต่างอยรอคอยอ้าย

เต่า เต่า เต่า เต่า เต่า เต่า เต่า เต่า เต่างอย เต่างอย เต่างอย ฯลฯ

 

ทันทีที่ก้าวเท้าลงจากรถ เพลงแสนคุ้นหูที่เสมือนเป็นเพลงประจำตัวคนบ้านย่านเต่างอยก็กระหึ่มขึ้น ป้ายข้างทางชี้บอกตำแหน่งที่ตั้งของพญาเต่างอย ยิ่งเดินเข้าใกล้รูปปั้นพญาเต่างอย ยิ่งรับรู้ได้ถึงความคับคั่งจอแจของผู้คนมากมายที่พร้อมใจมาเยี่ยมเยือน แม้วันนี้จะไม่ใช่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ตาม มองไปเห็นบางคนกำลังยิ้มแย้มถ่ายรูปกับหมู่คณะ บ้างกำลังน้อมไหว้พลางตั้งจิตอธิษฐานบนบานร้องขอสิ่งที่ปรารถนากับพญาเต่างอยผ่านควันธูปและตะกร้าใส่ผักบุ้ง แตงกวา น้ำแดงที่ประคองถือในมือด้วยความแน่วแน่  ในขณะที่จำนวนไม่น้อยพากันยืนออล้อมรอบรูปปั้นพญาเต่างอยจำลองที่ตั้งเยื้องอยู่หน้าองค์จริง พร้อมสอดส่ายสายตาหาเลขนำโชคไปในที

 

รูปปั้นพญาเต่างอย ณ สวนสาธารณะหลังที่ว่าการอำเภอเต่างอย (บันทึกภาพเดือนตุลาคม 2563)

 

เชื่อกันว่าพญาเต่างอยให้คุณในทางโชคลาภจึงมีคนมากราบไหว้ไม่ขาด (บันทึกภาพเดือนตุลาคม 2563)  

 

รูปปั้นพญาเต่างอยตรงหน้าสูงใหญ่สวยงาม ตั้งตระหง่านกลางลานกว้าง ที่ฐานรูปปั้นพญาเต่าโอบล้อมด้วยพญานาคและบ่อบัว บนขอบบ่อมีตุ๊กตาปูนปั้นรูปเต่าหลากสีหลายขนาดตั้งเรียงรายนับจำนวนได้ไม่ถ้วน หลายตัวมีพวงมาลัยและผ้าสีสดผูกคล้องคอ เสริมให้ดูศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังยิ่งขึ้น 

 

รูปปั้นพญาเต่างอย ณ สวนสาธารณะหลังที่ว่าการอำเภอเต่างอย ของเดิมก่อนบูรณะปรับปรุงโดยผู้ศรัทธา

(บันทึกภาพเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560)

 

ตะกร้าใส่ผักบุ้ง แตงกวา น้ำแดง พร้อมธูปเทียน เครื่องเซ่นไหว้พญาเต่างอย

 

รูปปั้นพญาเต่างอย ตั้งหันหน้าสู่ลำน้ำพุง ณ สวนสาธารณะหลังที่ว่าการอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าดอนปู่ตาที่ชาวบ้านเรียกว่า กุดนาแซง โดยในปี พ.ศ. 2555 นายโสภณพงศ์ เหตานุรักษ์ และนายประนอม วิดีสา ผู้นำท้องถิ่นในสมัยนั้น ร่วมกับชาวบ้านหาทุนและมงคลวัตถุสำหรับจัดสร้างรูปปั้นพญาเต่างอยขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเต่างอย คุณจีระวัฒน์  งอยภูธร อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านเต่างอยเล่าว่า “...มีพิธีเปิดพญาเต่างอยอย่างยิ่งใหญ่ในวันเสาร์ห้า ปี 55 วันนั้นจากท้องฟ้าปกติ ฉับพลันก็เกิดปาฏิหาริย์มีทั้งลมทั้งฝน สร้างความประหลาดใจให้ทุกคน...” แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ยังไม่ทำให้พญาเต่างอยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

 

รูปปั้นเต่าหลากหลายรูปแบบที่ผู้ศรัทธานำมาถวาย

 

เต่าสีทองนับร้อยตัวที่ชาวบ้านนำมาถวายพญาเต่างอย

 

น้องอิ๋ว ชาวบ้านในพื้นที่เล่าจากความทรงจำถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พญาเต่างอยเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างออกรสว่า “...ตอนที่สร้างรูปปั้นเสร็จ รอบรูปปั้นพญาเต่างอยยังเป็นลานโล่งๆ มีแค่กระถางธูปตั้งอยู่ด้านหน้า วันหนึ่งมีคนขับรถส่งของมาแวะพักที่ศาลาใกล้พญาเต่า เขาเห็นกระถางธูปจึงเข้าไปจุดธูปไหว้และนำขนมปังที่มีเข้าไปวางถวายที่เท้าพญาเต่า เขาสังเกตเห็นตัวเลขจึงไปหาซื้อล็อตเตอรี่ตามเลขที่เห็น ปรากฏว่าถูกรางวัล 30 ล้านบาท นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนภายนอกรับรู้ถึงอิทธิฤทธิ์ของพญาเต่างอยและหลั่งไหลมากราบไหว้ขอโชคลาภ...”

 

ตุ๊กตาและของเล่นรูปเต่าเป็นสินค้ายอดนิยมของที่นี่

 

เด็กน้อยสะพายกระเป๋ารูปเต่าที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้าในบริเวณนี้

 

เสื้อที่ระลึกรูปพญาเต่างอยมีวางขายหลายรูปแบบที่ตลาดใกล้กับรูปปั้นพญาเต่างอย

 

เมื่อกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ในทางให้โชคลาภแผ่กระจายไปจนเป็นที่ประจักษ์ ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างแห่แหนมาเยี่ยมเยียนนบไหว้พญาเต่างอยไม่ขาด ตลาดและร้านค้าขายของที่ระลึก รวมถึงแผงล็อตเตอรี่จึงเกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบการแสวงโชค ลานรอบพญาเต่างอยในวันนี้จึงไม่ใช่ลานโล่งดังเดิม คุณจีระวัฒน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “...รายได้จากผู้มาทำบุญที่พญาเต่างอย นอกจากจะถูกใช้บำรุงสถานที่รอบพญาเต่างอยและสร้างสะพานข้ามลำน้ำพุงแล้ว ยังถูกจัดสรรไปบูรณะซ่อมสร้างปรับปรุงพื้นที่ภายในวัดศิริมังคละ วัดเก่าแก่คู่บ้านเต่างอยด้วย...”

 

ศาลาปู่กัสสโป ภายในวัดศิริมังคละเต่างอย (บันทึกภาพเดือนตุลาคม 2563)

 

สมัยก่อนรูปปั้นปู่กัสสโปตั้งอยู่กลางแจ้ง ก่อนสร้างศาลาคลุมภายหลัง (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560)

 

อย่างไรก็ดี รูปปั้นพญาเต่างอยที่เห็นนี้ไม่ใช่รูปปั้นเต่างอยรูปแรกของบ้านเต่างอย ยังมีรูปปั้นพญาเต่าเก่าแก่ที่ชาวบ้านบ้านเต่างอยให้ความเคารพศรัทธาอีกองค์หนึ่ง รูปปั้นนั้นมีขนาดเล็กกว่าและตั้งอยู่ภายในวัดศิริมังคละเต่างอย ฝั่งตรงกันข้ามกับพญาเต่างอยโดยมีลำน้ำพุงคั่นขวาง ชาวบ้านเรียกรูปปั้นเต่าภายในวัดว่า ปู่เต่าหรือปู่กัสสโป สร้างมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2518 โดยน่าจะผูกโยงกับความเชื่อเรื่องพระกัสสปพุทธเจ้า ทุกวันนี้ชาวบ้านยังให้ความเคารพปู่เต่า มีผู้แวะเวียนไปกราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ

 

ผักบุ้งและน้ำแดงจัดเตรียมไว้เป็นชุดสำหรับให้ผู้ศรัทธาได้นำมาเป็นเครื่องสักการะ

 

รูปปั้นปู่กัสสโป ภายในวัดศิริมังคละเต่างอย ตั้งอยู่ภายในศาลาหลังปัจจุบัน  (บันทึกภาพเมื่อเดือนตุลาคม 2563) 

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ